รีวิว Samsung Galaxy Note Edge มือถือจอโค้ง นวัตกรรมใหม่ในกำมือ

DSC000401[1]

มือถือซัมซุงที่แพงที่สุด หายากที่สุด และหน้าตาโดดเด่นที่สุดตอนนี้ต้องยกให้ Galaxy Note Edge ที่มีจุดเด่นคือขอบด้านขวาถูกตัดออกไป และใส่หน้าจอโค้งมาแทน โดยที่สเป็กทุกอย่างถอดแบบมาจากเรือธงอย่าง Galaxy Note 4 แต่ด้วยความโดดเด่นและหายาก ทำให้บางคนเรียกว่าเป็นรุ่น limited edition

สเป็ก Samsung Galaxy Note Edge ( SM-N915G )

  • ซีพียู Qualcomm Snapdragon 805
  • แรม 3 GB
  • หน่วยความจำภายใน 32 GB รองรับ microSD
  • หน้าจอ 5.6 นิ้ว แบบ Super AMOLED ความละเอียด Quad HD  (2560x(1440+160))
  • กล้องหลังความละเอียด 16 ล้าน ระบบกันสั่น Smart OIS
  • กล้องหน้าความละเอียด  3.7 ล้าน รูรับแสง f/1.9
  • น้ำหนัก 174 กรัม
  • แบตเตอรี่ 3000 mAh และระบบ Fast Charging
  • NFC, Bluetooth v 4.1 (BLE), ANT+, MHL 3.0, IR LED (Remote Control)

Galaxy Note Edge มีรุ่นย่อยหลายโมเดลขึ้นอยู่กับประเทศที่วางขาย แต่สิ่งหลักที่ต่างกับก็คือซีพียูทั้ง 2 แบบ เริ่มจาก Snapdragon 805 ที่มี 4 core กับ Exynos 5433 ที่มี 8 core ซึ่ง Exynos รุ่นนี้ปรับปรุงได้ดีกว่ายุคก่อนชนิดที่ว่าเทียบชั้นกับ Snapdragon ได้สบาย ดังนั้นถ้าใช้งานแบบไม่อิงสเป็กแล้วทุกโมเดลก็มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน

DSC000421[1]

เนื่องจากรุ่นนี้ไม่มีขอบด้านขวา ทำให้ต้องโยกปุ่มเปิด-ปิดไปไว้ด้านบน ส่วนปุ่มปรับเสียงถูกวางไว้ด้านซ้าย ทำให้การใช้งานจริงไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเอื้อมมือไปกดปุ่มเปิด-ปิด

DSC00002[1]

กล้องหลังที่นูนออกมาจากตัวเครื่อง ทำให้มีโอกาสเกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของค่ายนี้ แนะนำว่าควรหาเคสมาใส่เพื่อป้องกันเลนส์เป็นรอย ถัดลงมาเป็นเซ็นเซอร์สำหรับวัดอัดราการเต้นของหัวใจและวัดค่า UV ของแสงแดด

DSC00014[1]

การจัดเรียง 3 ปุ่มด้านล่างยึดตามแนวทางใหม่ของซัมซุงคือ recent apps, home, back และปุ่ม home ยังทำหน้าที่อีกอย่างคือเป็นเครื่องสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถใช้สำหรับปลดล็อกหน้าจอ หรือสแกนเพื่อเข้าสู่ private mode สำหรับซ่อนไฟล์ต่างๆ

แม้ว่าจะมีข่าวออกมาว่าระบบสแกนลายนิ้วมือทำได้ดีกว่าสมัย Galaxy S5 แต่เมื่อใช้จริงยังลำบากไม่ต่างจากเดิม คือต้องรูดนิ้วในแนวตั้งจากบนลงล่าง ซึ่งขัดกับตำแหน่งการวางมือ จึงไม่เหมาะกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานในสมัยนี้ ที่เปิดหน้าจอขึ้นมาดูบ่อยๆ ถ้าเทียบกับคู่แข่งในแง่ของความสะดวกแล้วยังถือว่าล้าหลัง ก้าวช้ากว่า iPhone 5S และ Huawei Mate 7

DSC00010[1]

หน้าจอความละเอียดระดับ Quad HD หรือ 2K ที่ควงคู่มากับซีพียู Snapdragon 805 ก็ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและลื่นไหล ต่างจากเพื่อนร่วมชาติอย่าง LG G3 ที่มีหน้าจอ 2K แต่ซีพียู Snapdragon 801 ซึ่งใช้จริงค่อนข้างหน่วง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆ ถือว่าซัมซุงยังมีรอมที่ค่อนข้างหน่วงกว่าชาวบ้าน จะเห็นได้ชัดเวลาที่เปิดแอปหรือเรียกใช้ recent apps แต่ก็ถือว่าเร็วกว่าซัมซุงรุ่นก่อนหน้านี้อยู่พอสมควร

ตัวการของความหน่วงนี้เกิดจาก TouchWiz ที่ซัมซุงครอบทับลงไปบนแอนดรอยอีกชั้น และยังคงถูกเว็บเมืองนอกบ่นอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่ความหน่วงที่ว่าก็ยังอยู่ในเกณฑ์รับได้ เช่น ปรกติกดและเข้าได้ทันที บางครั้งก็อาจจะช้าลง 1-2 วินาที แต่ก็แลกมาด้วยความสามารถที่อัดแน่นพอตัว

DSC00012[1]

ส่วนแถบ panel ด้านข้างใช้วิธีเลื่อนเพื่อเปลี่ยนหน้า สามารถเพิ่ม-ลด panel หรือเขียนข้อความได้ แต่ด้วยความที่ Galaxy Note Edge เป็นรุ่นที่ไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ไม่ค่อยมีนักพัฒนาสร้าง panel ขึ้นมาให้โหลดใช้งาน

DSC00050[1]

นอกจากความสวยงามแล้ว ตัว panel ที่ขอบโค้งยังปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย เช่น เมื่อมีสายเรียกเข้าระหว่างปิดหน้าจอ ก็จะมีปุ่มรับสายตามปรกติ แต่ถ้าสายเรียกเข้าระหว่างที่เราเปิดใช้งานแอป การรับสายจะใช้วิธีสไลด์ที่ panel ด้านข้าง หรือการดูหนังก็ย้ายปุ่มควบคุมไปไว้ตรง panel แทน ทำให้ไม่เกะกะสายตาระหว่างดูหนัง

สำหรับคนที่ถนัดซ้าย ซัมซุงก็มีโหมดให้พลิกเครื่องเล่น ซึ่งใช้จริงแล้วค่อนข้างตลก เพราะปุ่ม home จะอยู่ด้านบน ส่วนกล้องหน้าจะอยู่ด้านล่าง และการใช้งานจริงมีโอกาสที่อุ้งมือจะเผลอไปโดนปุ่มต่างๆ ที่ panel ซึ่งการใส่เคสจะช่วยลดปัญหานี้

DSC00016[1]

เซ็นเซอร์ด้านหลังต้องใช้ควบคู่กับแอป S Health เพื่อวัดค่า UV ด้วยการหันเซ็นเซอร์เข้าหาแสงแดด นอกจากนี้ยังใช้นิ้วทาบเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดระดับอ๊อกซิเจนและระดับความเครียดได้อีกด้วย

DSC00001[1]

เซ็นเซอร์ด้านหลังยังใช้แทนปุ่มชัตเตอร์ในการถ่ายรูปด้วยกล้องหน้าได้ โดยจะทำการถ่ายเมื่อปล่อยนิ้วจากเซ็นเซอร์ แต่เมื่อใช้จริงพบว่ามีโอกาสสูงที่ภาพจะเบลอ เพราะจังหวะที่เราปล่อยนิ้วจากเซ็นเซอร์ มือเราจะขยับทำให้กล้องสั่นและภาพเบลอ

DSC00026[1]

ระบบ Multi window และการแบ่งพื้นที่หน้าจอทำได้ดีขึ้นกว่ายุค Note 3 โดยลากนิ้วจากมุมจอลงมาเพื่อย่อแอปให้เป็นหน้าต่าง แต่การย่อหน้าต่างแบบนี้ไม่สามารถใช้งานได้กับบางแอป

DSC00024[1]

การใช้ Multi window เปิด 2 หน้าต่างพร้อมกันก็สามารถเรียกใช้ได้ 2 วิธี

  1. กดปุ่ม back ค้างไว้เพื่อเรียกแถบ Multi window
  2. กดปุ่ม recent apps และกดที่สัญลักษณ์ Multi window

DSC00030[1]

เมื่อเอามาใช้ร่วมกันก็ทำให้เปิดได้มากกว่าครั้งละ 2 แอป ซึ่งการใช้จริงอาจสร้างความสับสนเกินไป

นอกจากนี้โหมดใช้งานมือเดียวก็ทำได้สะดวกกว่ารุ่นก่อนๆ เพียงแค่ปัดนิ้วจากด้านข้างเข้าไปยังกลางจอและปัดนิ้วกลับ ก็จะเป็นการเรียกใช้โหมดมือเดียว ซึ่งแถบ panel ด้านขวาก็จะถูกยุบไปรวมในหน้าต่างนี้ด้วย

DSC00033[1]

ถ้าแบ่งประเภทการใช้งานของปากกาอย่างง่ายก็จะได้ 3 แบบคือ

  1. Action memo สำหรับจดบันทึกด่วนๆ เสมือน post it และมีระบบแปลงลายมือเป็นตัวอักษรเพื่อบันทึกหรือค้นหา
  2. Capture screen ที่มีหลายโหมด แต่ถ้านับรวมๆ ก็คือการจับภาพหน้าจอและขีดเขียนหรือส่งต่อ
  3. S Note สำหรับบันทึกที่จริงจังมากขึ้น มีการแบ่งหมวดหมู่เสมือนสมุดแต่ละเล่ม

Image20150101175253[1]

ที่น่าสนใจคือระบบ Photo Note ที่เพิ่มมาใน S Note เหมาะสำหรับถ่ายรูปป้ายหรือกระดาน หลังจากนั้น Photo Note จะทำการ crop และปรับมุมองศาให้อ่านง่ายขึ้น และยังสามารถแก้ไขบางส่วนของภาพได้ค่อนข้างง่าย

DSC00020[1]

เนื่องจากรุ่นนี้มีไมค์ 3 จุด ทำให้การบันทึกเสียงมีมิติมากขึ้น สามารถเลือกได้ว่าต้องการดูดเสียงรอบข้างในลักษณะไหน ส่วนลำโพงที่อยู่ด้านหลังก็ให้เสียงที่ค่อนข้างประทับใจทั้งในแง่ของความดังและคุณภาพ

DSC00049[1]

อีกส่วนที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือระบบ help messages ที่เป็นความสามารถหนึ่งของ Safety assistance เหมาะสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทำการส่งภาพ เสียง และพิกัดไปยังหมายเลขที่เราบันทึกไว้ ผ่านช่องทาง MMS ด้วยการกดปุ่มเปิด-ปิด 3 ครั้งติดกัน

DSC00032[1]

อัลบั้มรูปยังคงมีปัญหาเรื่องของความหน่วง และจะเห็นได้ชัดถ้าทำการเชื่อมต่อกับ Dropbox ที่มีรูปเยอะๆ เครื่องจะทำงานช้ามาก แนะนำว่าไม่ควรเปิดระบบนี้

Image20150101183907[1]

ในการใช้งานช่วงแรกพบว่าเครื่องทำงานค่อนข้างหน่วง แต่เมื่อผ่านไปสักพักให้เครื่องได้ทำการ cache ข้อมูลต่างๆ ก็จะพบว่าเครื่องทำงานได้ลื่นไหล

ในแง่ของความอึดเมื่อเทียบจากการใช้งานจริงก็ถือว่าแบตเตอรี่อยู่ค่อนข้างนาน และยังมี Power saving สำหรับลดการทำงานเพื่อยืดอายุการใช้งานระหว่างวัน แต่ถ้ากรณีฉุกเฉินก็มี Ultra Power saving ที่ปรับหน้าจอเป็นสีดำและตัดการเชื่อมต่อเพื่อให้ใช้งานได้ราวๆ ครึ่งเดือน นอกจากนี้ยังมีระบบ Fast charging ที่ชาร์จเร็วกว่าปรกติ 30% หรือใช้เวลา 30 นาทีเพื่อชาร์จ 50%

DSC00036[1]

กล้องถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เมนูไม่สับสนเหมือนสมัยก่อน และโหมด auto เก่งขึ้นมาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องปรับโหมดให้วุ่นวาย และที่สำคัญสามารถล็อกแสงและโฟกัสได้ด้วยการกดค้างที่หน้าจอ

DSC00038[1]

ถ้าถือในแนวตั้ง ปุ่มชัตเตอร์จะเลื่อนไปอยู่ตรงกลางเพื่อให้ใช้นิ้วโป้งกดถ่ายได้ง่ายขึ้น

สำหรับโหมดที่น่าสนใจก็อย่างเช่น

  • Selective focus ทำหน้าชัดหลังเบลอ หรือหน้าเบลอหลังชัด
  • Shot & more ถ่ายหลายช็อตและเลือกว่าจะใช้ลูกเล่นอะไร
  • Virtual tour บันทึกคลิปทิศทางการเดินพร้อมแผนที่บอกเส้นทางที่เคยเดิน

ในส่วนของ Selective focus เมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆ หรือแม้แต่แอป Google Camera ก็ถือว่ายังทำได้ไม่ดีนัก มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะที่ถ่ายต้องไม่ไกลเกินไป ไม่สามารถเลือกวัตถุที่ต้องการโฟกัสภายหลัง เลือกได้แค่ว่าจะโฟกัสใกล้หรือไกล และปรับระดับความเบลอไม่ได้

แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมของกล้อง ถือว่าทำได้น่าประทับใจมาก โดยเฉพาะในที่แสงน้อยที่ได้รับอานิสงค์จาก OIS ทำให้คุณภาพดีกว่ารุ่นก่อนๆ ของซัมซุง และยังช่วยให้การบันทึกคลิปดูเนียนตาไม่สั่นมากนัก

ตัวอย่างรูปถ่าย

2014-12-19 19.31.08

2014-12-22 18.09.18

2014-12-22 19.49.02

2014-12-22 20.23.45

ความเห็นของทีมงานล้ำหน้า

Galaxy Note Edge ความจริงแล้วก็คือ Note 4 ลบขอบ ซึ่งถือว่าเป็น Galaxy Note ที่เก่งกว่ารุ่นก่อนแบบก้าวกระโดดในทุกด้าน ถ้าจะให้ติก็คงมีเรื่องของเซ็นเซอร์สแกนนิ้วมือที่ยังไม่ดีพอ และรอมที่หน่วงกว่าค่ายอื่นๆ แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าเป็นรุ่นที่น่าใช้มาก

ส่วนของ Edge screen ได้เรื่องของความสวยงาม และถ้าใช้คล่องจะพบว่ามันสะดวกกว่าการที่ต้องเอื้อมนิ้วไปกดแอปที่หน้าจอ แต่ต้องทำใจว่า Note Edge เป็นรุ่นที่ไม่ได้เจาะตลาด mass ดังนั้นจึงไม่มี panel ให้โหลดใช้เท่าที่ควร

ในแง่ของความคุ้มค่าก็ต้องบอกว่า Galaxy Note 4 น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะการอิงราคาปัจจุบันที่ Note 4 เริ่มมีร้านตั้งราคา 20,000 บาท ในขณะที่ Note Edge ยังคงขายกันที่ประมาณ 30,000 บาท เว้นแต่ว่าต้องการความ Unique และสไตล์ที่โดดเด่น

อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง อยากช่วยเหลือผู้คน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บอกเล่าในสิ่งที่ตัวเองรู้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่