เมื่อปีก่อนเรียกได้ว่าตลาดมือถือราคาต่ำกว่าหมื่นถูก ASUS ZenFone กวาดไปแทบทั้งหมด ทำเอาแบรนด์ดังทั้งหลายปวดหัวกับสเป็กและราคาที่ ASUS ทำออกมา และความแสบของปีก่อนทำให้หลายค่ายต้องรีบตักตวงก่อนที่ ZenFone 2 จะถูกวางขายเพราะกลัวจะซ้ำรอยเดิมคือถูก ASUS ยึดตลาด แต่ที่น่าจับตามองก็คือราคาที่ ASUS วางไว้สูงกว่าปีก่อน แม้ว่าสเป็กจะสูงกว่าคู่แข่ง แต่ราคาที่ขยับขึ้นมาวนเวียนแถวหมื่นทำให้มีตัวเลือกที่มากขึ้นตามไปด้วย
สเป็ก ASUS ZenFone 2
- ซีพียู Intel Atom Z3850 ( 2.3 GHz, 64 bit )
- แรม 4 GB
- หน่วยความจำภายใน 64 GB รองรับ microSD
- หน้าจอ 5.5 นิ้ว IPS ความละเอียด Full HD
- กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชคู่
- กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
- รองรับการใช้งาน 2 ซิมและ 4G
- รองรับระบบ Fast Charge
ZenFone 2 มีแยกย่อยอยู่ 4 รุ่นที่ต่างกันในส่วนของซีพียู แรม หน่วยความจำภายใน กล้อง ความละเอียดหน้าจอ รวมถึงระบบชาร์จเร็ว และครั้งนี้เลือกหยิบรุ่นแรม 4 GB มาทดสอบเพราะมันเป็นความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสมือถือแรม 4 GB ในราคาราวหมื่น ทั้งที่มือถือเรือธงราคาเฉียดสามหมื่นยังมีแรมน้อยกว่านี้
ซึ่งรุ่นแรม 4 GB มีหน่วยความจำภายใน 2 ขนาดคือ 32 GB ราคา 9,999 บาท และ 64 GB ราคา 11,990 บาท
ฝาหลังมีลวดลายเป็นเส้นและโค้งรับอุ้งมือ ทำให้การถือค่อนข้างกระชับแม้ตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่ ส่วนปุ่มปรับเสียงถูกย้ายไปไว้ที่ฝาหลังคล้ายกับ LG แต่ปัญหาหลักคือปุ่มเปิด-ปิดที่วางไว้ด้านบน ซึ่งกดค่อนข้างยากแต่โชคดีที่รุ่นนี้รองรับการเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดและปิดด้วย
ปุ่ม navigator ด้านล่างเรียงลำดับตามมาตรฐานกูเกิ้ลคือ back, home, recent apps แต่ที่น่าเสียดายคือปุ่มทั้ง 3 ไม่มีไฟส่องสว่าง
การที่เกิดมาพร้อมกับ Android 5.0 ทำให้หน้าตาและระบบบางอย่างเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดก็คือแถบแจ้งเตือนด้านบนที่แบ่งการลากเป็น 2 จังหวะโดยลากครั้งแรกเข้าการแจ้งเตือน และลากซ้ำอีกครั้งเพื่อเข้าสู่การตั้งค่า
และจุดที่เป็นประเด็นที่สุดของ Android 5.0 ก็คือระบบเสียงที่เปลี่ยนไป เหลือแค่โหมดเสียงและโหมดสั่น ส่วนโหมดเงียบถูกตัดทิ้ง แต่เพิ่มโหมด interrupts เข้ามาแทนซึ่งเทียบเท่าระบบ Do not Disturb ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าการปิดเสียงทำไมมันวุ่นวายแบบนี้ ทำให้ผู้ผลิตบางรายรวมถึง ASUS เลือกใช้วิธีดัดแปลงระบบเสียง โดยซ่อนความวุ่นวายไว้ใต้ UI ให้ออกมาเป็นรูปแบบที่คุ้นเคยที่สุดคือ
- โหมดเสียง
- โหมดสั่น
- โหมดเงียบ
ซึ่งโหมดเงียบของ ZenFone 2 ที่จริงก็คือโหมด interrupts ของ Android 5.0 นั่นเอง
ASUS ได้ใส่ลูกเล่นหลายอย่างเพิ่มเข้ามาในรอม เช่น ZenMotion ซึ่งเป็นการควบคุมด้วยท่าทาง เช่น เคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดและปิดจอ หรือวาดตัว C ระหว่างปิดหน้าจอเพื่อเรียกใช้งานกล้อง หรือ One Hand Mode ที่เรียกใช้งานโดยกดปุ่ม home 2 ครั้ง
ASUS Cover หรือการใช้ร่วมกับเคสที่มีฝาปิดก็สามารถตั้งค่าเพิ่มเติมได้ว่าจะให้แสดงอะไรบ้าง เช่น กล้อง ไฟฉาย ปฎิทิน
ASUS customized setting ที่น่าสนใจคือการตั้งค่าการกดค้างของปุ่ม recent apps ว่าจะให้เข้าเมนู หรือจับภาพหน้าจอ หรือไม่ทำอะไร และการจับภาพหน้าจอก็สามารถเลือกนามสกุลได้ทั้ง png และ jpeg นอกจากนี้ยังเลือกตำแหน่งการติดตั้งแอปได้อีกด้วย
แต่ความจริงแล้วหน่วยความจำภายในก็มีเพียงพอสำหรับติดตั้งแอป ดังนั้นควรเลือกตำแหน่งการติดตั้งให้อยู่ในภายตัวเครื่องเพื่อลดปัญหาที่จะตามมา
และเนื่องจากการใช้ Android 5.0 ทำให้รุ่นนี้รองรับการใช้งานหลายคน หรือ multi-user รวมถึง guest mode และ SnapView ทำให้สามารถสร้าง profile หรือติดตั้งแอปแยกจากกันได้ แต่ที่จริงแล้วระบบ multi-user ของ Android 5.0 ไม่ได้แยกแต่ละ user ออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะมีบางส่วนที่ใช้งานร่วมกันเช่น การอัพเดทแอป หรือการตั้งค่า WiFi
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ Screen pinning ที่อยู่ใน recent apps มีไว้สำหรับล็อกหน้าจอป้องกันการสลับไปยังแอปอื่น เหมาะสำหรับการทำ presentation หรือการ demo
ส่วน App Drawer มีระบบ Smart group ไว้ช่วยจัดเรียงแอปและโฟลเดอร์ นอกจากนี้ยังสามารถเลือก Grid size ได้ตั้งแต่ 3×3 ไปจนถึง 5×5 และในส่วนของ Launcher ก็มีระบบธีมให้เลือกใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม
การใช้งาน 2 ซิมมีข้อจำกัดเล็กๆ คือซิมที่ใช้งานเน็ตจะต้องใส่ในช่องที่ 1 เท่านั้น ส่วน UI การโทรใช้วิธีควบรวมประวัติการโทรเข้าและ dial pad สำหรับการโทรออก ทำให้การโทรหรือย้อนดูประวัติสะดวกขึ้น และยังมีปุ่มโทรออกชัดเจนว่าต้องการโทรออกจากซิมที่ 1 หรือ 2 นอกจากนี้ยังบันทึกเสียงการโทรและตั้งบันทึกอัตโนมัติให้บันทึกเสียงทุกครั้งได้ด้วย
ด้านประสิทธิภาพได้คะแนน Antutu ไป 46,727 คะแนน ซึ่งถ้าอิงตามตารางก็ถือว่าทำได้ดีเกินตัวเพราะคะแนนเกือบเท่า Galaxy Note 4 ส่วนการใช้จริงก็ค่อนข้างเสถียรและลื่นมาก และการมีแรมสูงถึง 4 GB ก็ส่งผลให้เปิดแอปค้างไว้ได้เยอะขึ้นโดยไม่ถูกตัวเครื่องบังคับปิดเพราะแรมเต็ม ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเมื่อใช้แอปที่ใช้ทรัพยากรสูงเช่น การสลับไปมาระหว่างเกมใหญ่ๆ และแอป
และที่น่าสนใจก็คือรุ่นนี้รองรับระบบ Fast Charge ซึ่งในกล่องก็แถมหัวแปลงแบบ Fast Charge มาด้วย วิธีสังเกตก็คือเวลาชาร์จจะมีเครื่องหมายบวกแสดงบนรูปแบตเตอรี่ นอกจากนี้ได้ทดสอบเอาหัวแปลงแบบ Quick Charge 2.0 ของ Qualcomm มาเสียบก็สามารถชาร์จเร็วได้เช่นกัน
เรื่องของเสียงก็อยู่ในเกณฑ์ทั่วไป ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ที่เด่นมากก็คือกล้องซึ่งนับเป็นจุดเด่นของ ASUS เลยก็ว่าได้สำหรับโหมด Low Light ที่เก่งมาก สามารถเอาชนะเรือธงค่ายอื่นได้สบาย และถ้าอิงตามเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นปัจจุบัน Manual mode สามารถปรับแต่งได้เยอะกว่าเรือธงอย่าง Galaxy S6 ด้วยซ้ำ โดยปรับแต่งค่าได้ดังนี้
- Manual focus
- Shutter speed 1/2 ถึง 1/500
- ISO 50 ถึง 800
- EV -2 ถึง +2
- White balance 2500K ถึง 6500K
ในที่แสงน้อยกับโหมด Low Light สามารถดึงแสงสีและรายละเอียดได้ดีกว่าเรือธงอย่าง Galaxy S6 และ OPPO N3 แต่โหมดนี้มีข้อจำกัดคือความละเอียดจะถูกลดลงมาเหลือเพียง 3 ล้านพิกเซล และใช้เวลาถ่ายประมาณ 2 วินาที
แม้ว่าในช่วง 2 วินาทีควรจะตั้งกล้องให้นิ่งที่สุด แต่จากการใช้จริงพบว่าการสั่นในแบบไร้ขาตั้งกล้อง ใช้เพียงมือเปล่าก็ยังได้ผลลัพธ์ที่ดี
และถ้าเทียบจากสถานการณ์ที่มีแสงมากขึ้นกว่าเดิมก็ยิ่งเห็นความต่างได้ชัดว่า ZenFone 2 ทำได้ดีกว่าแบบขาดรอย
นอกจากโหมด Manual และ Low Light ก็ยังมีโหมดอื่นที่น่าสนใจเช่น Time Rewind ที่สามารถเลือกย้อนเวลาไปก่อนกดถ่าย 3 วินาทีและหลังถ่าย 1 วินาที หรือ Super Resolution ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ UltraHD ของ OPPO คือนำภาพมาประมวลผลสร้างไฟล์ความละเอียดสูงประมาณ 37 ล้านพิกเซล และหลังจากกดถ่ายก็สามารถเก็บเครื่องได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ประมวลผลเสร็จเช่นเดียวกับ OPPO
อีกโหมดที่น่าสนใจคือ Smart Remove ไว้สำหรับลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกจากภาพถ่าย เหมาะสำหรับการไปถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวและมีคนเดินผ่านไปมา บดบังทัศนียภาพ และยังมีโหมด Time Lapse อีกด้วย
ส่วนกล้องหน้าก็มีโหมดหน้าสวย แต่งหน้า ทาปาก ศัลยกรรมผ่านจอได้เช่นกันกับค่ายอื่น และผลลัพธ์ก็ถือว่าน่าพอใจ
ในที่กลางแจ้งหรือยามค่ำคืนไม่ใช่ปัญหาสำหรับ ZenFone 2 แต่กลับมาตกม้าตายง่ายๆ เพราะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในเรื่องของแสง เนื่องจากบางครั้งก็วัดแสงออกมาค่อนข้างมืด
แต่ปัญหาเรื่องการวัดแสงก็ไม่ได้ทำให้รายละเอียดแย่ลงมากนัก เพราะเมื่อนำภาพมาปรับแสงหรือถ่ายด้วยโหมด HDR ก็จะเห็นรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วน
ส่วนการถ่ายคลิปในที่แสงน้อยที่เคยเป็นปัญหาของ ZenFone ตัวเก่าในแบบที่ภาพกระตุกเหมือน frame rate ตก ก็ยังไม่เจอปัญหานี้บน ZenFone 2
ความเห็นจากทีมข่าวล้ำหน้า
ในภาพรวมแล้ว ASUS ZenFone 2 เป็นรุ่นสุดคุ้มและใช้งานจริงได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสเป็กที่คุ้มเกินราคา และยังมาพร้อมระบบ Fast Charge รวมถึงกล้องที่ทำงานได้น่าประทับใจ
แต่ปัญหาที่หลายคนกังวลคือเรื่องของศูนย์บริการที่ไม่ประทับใจนัก จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้มือถือ ASUS ก็ยังไม่เคยเจอเครื่องไหนที่มีปัญหาจนต้องเข้าศูนย์ซ่อมเลยสักครั้ง ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องใช้วิจารณ์ญาณส่วนบุคคลว่าเรื่องศูนย์ซ่อมมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนกับการเลือกซื้อ