รีวิว LG G4 มือถือที่ชนะใจคนในวงการมากที่สุด

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Galaxy S6 และ S6 edge ซึ่งมีการปรับปรุงหลายสิ่ง ทำให้คนในวงการมือถือรู้สึกตื่นเต้น แต่ผู้ใช้ทั่วไปรู้แค่มันสวยเพราะเข้าไม่ถึงความว๊าวของมัน แต่กระนั้นก็ทำให้ Galaxy S6 และ S6 edge ถูกหลายสำนักยกย่องว่ามันคือมือถือที่ดีที่สุด

…แต่เรื่องหักมุมก็เกิดขึ้นเพราะ LG G4 เริ่มปล่อย teaser มาข่มด้วยกล้อง f/1.8 ที่เหนือกว่า และเมื่อเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กระแสความสนใจของคนในวงการก็หันมาจับจ้อง LG G4 แทน

สเป็ก LG G4 ( H818P )

  • ซีพียู Qualcomm Snapdragon 808
  • แรม 3 GB
  • หน่วยความจำภายใน 32 GB รองรับ microSD
  • หน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว IPS Quantum ความละเอียด QHD
  • กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ระบบกันสั่น OIS 2.0 และ Laser Auto focus
  • กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม และ 4G
  • น้ำหนัก 155 กรัม
  • แบตเตอรี่ 3,000 mAh

DSC00078_

สิ่งแรกที่ทำให้ LG G4 กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ก็คือเป็นเรือธงไม่กี่รุ่นในไทยที่รองรับ 2 ซิม และราคาถูกกว่าคู่แข่งทั้ง Samsung และ HTC นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่โดดเด่นถูกใจหลายคนคือฝาหลังที่ทำจากหนังแท้ในราคา 21,900 บาท ต่างจาก Galaxy Note 4 ที่ใช้ลวดลายให้คล้ายหนัง แต่ถ้าไม่ชอบฝาหลังที่เป็นหนังก็มีแบบพลาสติกให้เลือกใช้ได้ในราคา 20,900 บาท

DSC00079_

LG G4 เป็นหนึ่งในมือถือไม่กี่เครื่องที่ผมกล้าใช้แบบไม่ต้องใส่เคส เพราะตัวกล้องแทบจะไม่นูนออกจากตัวเครื่อง และฝาหลังแบบหนังยังให้ความรู้สึกที่ดีในการถือ เกาะติดมือไม่ลื่นหลุดง่ายๆ นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมีความโค้งเล็กน้อย ซึ่งความโค้งด้านหลังช่วยให้ถือง่ายขึ้น ส่วนความโค้งด้านหน้าช่วยป้องกันการขูดหรือถูกับโต๊ะ

และความโค้งของหน้าจอยังช่วยให้การใช้งานด้วยมือเดียวง่ายขึ้นอีกเล็กน้อย รวมถึงมุมมองที่ดีขึ้นคล้ายกับ Samsung Curved TV ที่ใช้จอโค้งเข้ามาช่วย แต่ปัญหากับการใช้จริงคือ การวางเครื่องไว้บนโต๊ะแล้วจิ้มเล่นด้วยนิ้วเป็นเรื่องลำบาก เพราะตัวเครื่องจะเอียงไปมา

DSC00140_

หน้าจอขนาด 5.5 นิ้วกับความละเอียดระดับ QHD หรือที่หลายคนคุ้นหูว่า 2K ก็เรียกได้ว่าละเอียดเกินกว่าการใช้งานทั่วไปด้วยซ้ำ และหน้าจอแบบ IPS Quantum ที่ LG ได้เลือกใช้บน G4 นอกจากจะให้สีสันที่สด สมจริง ก็ยังสู้แสงแดดได้ดีอีกด้วย ทำให้การเล่นมือถือกลางแจ้งไม่ใช่ปัญหาของ LG G4

DSC00121_

ถ้าต้องการดูวัน เวลา ระหว่างที่หน้าจอปิดอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าจอแต่สามารถลากนิ้วลงและวางนิ้วค้างไว้ เพื่อเรียกใช้งาน Glance ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่า และช่วยประหยัดแบตเตอรี่ด้วย

DSC00085_

ในหน้า lock screen มี shortcut เรียกใช้แอปด่วนๆ และสามารถปรับแต่งส่วนนี้ได้ ด้านความสวยงามก็มีอนิเมชั่นตามสภาพอากาศ ส่วนเรื่องความปลอดภัยมีสิ่งที่เรียกว่า Knock Code แม้ว่าจะใช้งานไม่สะดวกเท่าการสแกนนิ้วอย่างเรือธงแบรนด์อื่น แต่ถ้ามองในแง่ความปลอดภัยก็ถือว่า Knock Code ทำได้ดีไม่แพ้กัน เพราะการคาดเดารูปแบบการกดบนตาราง 4 ช่องไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ยังมีระบบ Smart Lock ที่ติดมากับ Android 5.1 ช่วยเพิ่มความสะดวกด้วยการตั้งเงื่อนไข เช่น ถ้าอยู่ในบ้านหรือเชื่อมต่อบลูทูธ ก็สามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องปลดล็อก

DSC00084_

การเปิดและปิดทำได้ด้วยการเคาะ 2 ครั้งที่หน้าจอหรือที่แถบแจ้งเตือนด้านบน และในกรณีที่หน้าจอปิดอยู่สามารถเรียกแอปจดบันทึก QuickMemo+ ได้ด้วยการกดปุ่มเพิ่มเสียง 2 ครั้ง และสามารถกดปุ่มลดเสียง 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องได้

ถ้าการกดลดเสียง 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องยังไม่สะดวกพอ ก็สามารถตั้งค่าให้กดลดเสียง 2 ครั้งเพื่อเปิดกล้องพร้อมกับถ่ายรูปทันทีได้อีกด้วย

DSC00091_

สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนชอบ LG G4 ก็คือการออกแบบตามมาตรฐานของ Google ด้วยการเลือกใช้ปุ่มแบบ on screen และที่เด็ดกว่านั้นก็คือสามารถปรับแต่งตำแหน่งของปุ่มได้ จะเลือกสลับ back, home, recent apps แบบไหนก็ตามสะดวก หรือจะใส่ปุ่มสลับซิม ปุ่มเปิดแอป 2 หน้าต่าง ฯลฯ และใส่ได้มากสุด 5 ปุ่ม นอกจากนี้ยังเลือกสีพื้นหลังได้อีกด้วย ซึ่งมีให้เลือก 2 สีคือขาวและดำ

DSC00105_

Android 5.1 มีหลายอย่างที่ใหม่ขึ้น แต่ก็มีหลายอย่างที่คนไม่ชอบรวมถึงแถบแจ้งเตือนแบบใหม่ที่ต้องลาก 2 จังหวะ โดยลากครั้งแรกเพื่อดูการแจ้งเตือน และลากซ้ำอีกครั้งเพื่อเข้า Quick Settings …ที่ซ้ำซ้อนกว่านั้นก็คือการปิดแถบพวกนี้ก็เป็น 2 จังหวะด้วย

ซึ่งส่วนนี้ทำให้หลายแบรนด์เลือกที่จะดัดแปลง UI/UX ให้ใช้ง่ายขึ้นและ LG G4 ก็เป็นหนึ่งในนั้น คือการปรับการลาก 2 จังหวะให้เหลือเพียงจังหวะเดียวเหมือนมือถือทั่วไปที่เราชินกัน

และในส่วน Quick Settings ก็สามารถเลือกเรียงลำดับแต่ละปุ่มได้ รวมถึงเลือกได้ว่าจะใส่ปุ่มปรับแสงและเสียงหรือไม่ แต่ที่เอาออกไม่ได้ก็คือปุ่มสลับซิม

ปัญหาต่อมาของ Android 5.1 ก็คือระบบเสียงที่ตัด Silent mode ทิ้งไป เรียกง่ายๆ ว่ามือถือจะไม่มีโหมดเงียบ มีแต่เสียงกับสั่น และถ้าจะปิดเสียงปิดสั่น ก็ต้องเลือกใช้ Interruptions mode แทน ซึ่งบางแบรนด์ได้ปรับแต่งส่วนนี้ แต่ LG G4 เลือกที่จะใช้ระบบเดิมของ Android 5.1 ที่หลายคนไม่ชิน

DSC00137_

ส่วนของ launcher ยังคงมี App Drawer ตามแบบที่คนคุ้นเคย ต่างจากแบรนด์ฝั่งจีนที่ปรับไปใช้แบบเทกระจาดเหมือนกับ iOS กันหมดแล้ว

นอกจากเรื่องของการใส่ธีมแต่งหน้าทาปากแล้ว launcher ยังปรับแต่งได้ค่อนข้างเยอะ สามารถเปลี่ยนรูปของ icon แต่ละอันได้ รวมถึงเคลื่อนย้ายตำแหน่งปุ่ม App Drawer ได้ด้วย จะเลื่อนไว้ขวาสุดแบบ Samsung ก็ได้ หรือจะวางไว้ตรงกลางตามมาตรฐาน Google ก็ตามสะดวก

ในส่วนของ App Drawer ก็มีปุ่มแว่นขยายสำหรับค้นหาแอป ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับคนที่ติดตั้งแอปเยอะๆ และยังสามารถ hide ซ่อนได้ เหมาะสำหรับซ่อนแอปที่ทำงานในลักษณะ service ที่ไม่ได้เรียกใช้งานผ่าน icon โดยตรง อย่างเช่น แป้นพิมพ์ที่ติดตั้งเพิ่ม

DSC00102_

และถ้าเลื่อนมาด้านซ้ายสุดจะเจอกับ Smart Bulletin หรือถ้าอธิบายง่ายๆ มันก็คือหน้ารวม Widget ให้ออกมาสวยๆ ซึ่งถ้าใครไม่ชอบหน้านี้ก็สามารถ disable ปิดมันได้เช่นกัน

สิ่งที่เราสามารถเลือกให้แสดงบน Smart Bulletin ได้คือ

  • LG Health
  • Calendar
  • Music
  • Smart Settings
  • Quick Remote
  • Smart Tips

DSC00107_

LG Health ไม่ได้บอกแค่จำนวนก้าวที่เดิน แต่มันยังตรวจจับได้ด้วยว่ากิจกรรมนั้นคือ การเดิน การวิ่ง หรือปั่นจักรยาน และจากการใช้งานจริงพบว่าการตรวจจับประเภทของกิจกรรมค่อนข้างแม่นยำ แต่ข้อจำกัดของอุปกรณ์คือไม่ได้ถือติดตัวตลอดเวลา ทำให้ผลลัพธ์ไม่แม่นยำเท่าอุปกรณ์แนว wearable ที่สวมใส่ติดตัวทั้งวัน

DSC00108_

ปรกติแล้วผมไม่ค่อยพูดถึงปฏิทินในการรีวิวเพราะมันก็แค่บอกตารางนัดหมาย แต่สำหรับ LG G4 มีความพิเศษตรง Event pocket ที่สามารถเพิ่มนัดหมายได้จากสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ข้อมูลจากภาพถ่าย, ใช้ GPS ที่ระบุสถานที่ใกล้เคียง หรือจะดึง Facebook event มาใส่ก็ได้

DSC00111_

เครื่องเล่นเพลงของ LG สามารถเล่นไฟล์ HIFI ได้มาตั้งแต่ LG G2 และสามารถเลือกเพลงแบบ Folder, Playlist หรือจะเลือกตามชื่อศิลปินก็ได้เช่นกัน และยังเชื่อมต่อเข้ากับ Cloud เพื่อเล่นเพลงจาก Dropbox, Google Drive หรือ LG Cloud ได้ด้วย

ลูกเล่นเล็กๆ ที่น่าสนใจก็คือมันสามารถค้นหา MV บน YouTube ได้จากเพลงที่กำลังฟัง

DSC00145

สำหรับเสียงจากลำโพงตัวเครื่องก็เหมือนเรือธงทั่วไปคือครบและดังเท่าที่มือถือจะทำได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ LG G4 แถมหูฟัง QuadBeat 3 มาในกล่อง ซึ่งจัดว่าเป็นหูฟังแถมที่คุณภาพดีมาก

DSC00097_

Smart Settings นับเป็นความฉลาดอีกอย่างของ LG G4 ที่ตั้งค่าแบบมีเงื่อนไขได้ เช่น ถ้าอยู่บ้านให้เปิดเสียงและปิดบลูทูธ ถ้าออกจากบ้านให้เปิดโหมดสั่นและเปิดบลูทูธ ถ้าเสียบหูฟังให้เปิดเพลง ฯลฯ

ซึ่งการตั้งค่าแบบมีเงื่อนไข ความจริงมีมานานแล้วกับแอปที่ชื่อ Tasker เพียงแต่การตั้งค่าค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป แต่เมื่อ LG G4 ใส่ความสามารถนี้เข้ามา ก็ปรับให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น

DSC00115_

Quick Remote เป็นอีกสิ่งที่ใช้งานได้ง่ายและครอบคลุม เพราะรองรับทีวี เครื่องเสียง รวมถึงโปรเจคเตอร์หลายรุ่น ส่วน Set-top box ก็รองรับ True Visions ไม่ต้องไปพลิกตัวเครื่องดูชื่อกล่องให้วุ่นวายเหมือนมือถือบางรุ่น

ที่สำคัญคือรองรับ Air Conditioner ในตัวเลย แต่รองรับเพียง 4 แบรนด์คือ Haier, Hisense, LG และ NEC สาเหตุที่รองรับเพียงไม่กี่รุ่นเพราะข้อจำกัดของสัญญาณ IR ที่มือถือไม่สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์บางประเภทได้ ซึ่งรุ่นอื่นก็มีปัญหานี้เช่นกัน

และยังมีสิ่งที่เรียกว่า Universal remote ซึ่งที่จริงแล้วมันก็คือการสร้างรีโมทขึ้นมาใช้เอง ด้วยการนำรีโมทจริงมากดสัญญาณแต่ละปุ่ม เพื่อคัดลอกรูปแบบสัญญาณมายังตัวแอป

DSC00116_

ส่วนของ Smart Tips มีประโยชน์สำหรับมือใหม่ เพราะมีคำแนะนำการใช้งานเครื่องให้คุ้มค่า

DSC00103_

Smart Notice ความจริงก็คือ Widget ธรรมดาตัวหนึ่ง เพียงแต่จะมีคำแนะนำอยู่เสมอ เช่น แจ้งเตือนว่าแอปไหนใช้งานแบตเตอรี่มากเกินไป หรือเตือนว่าในเครื่องมีขยะมากเกินไป

DSC00100_

ส่วนหนึ่งที่ทำให้มือถือหลายคนมีปัญหาก็คือการโหลดแอปด้วยความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะแอปในเชิง System Utillity อย่างการลบขยะ เคลียแรม ดังนั้นมือถือรุ่นใหม่ๆ เลยใส่ผู้ช่วยด้านนี้ลงไปด้วย แม้แต่ Galaxy S6 ก็มีความสามารถนี้

และในเมื่อ Galaxy S6 ทำได้ แล้วเพื่อนร่วมชาติอย่าง LG G4 จะยอมได้อย่างไร …จัดแอป Smart cleaning ไว้ให้ลบขยะกันง่ายๆ เหมือนกัน

DSC00094_

การเลือกใช้ Android 5.1 มีข้อดีอีกอย่างก็คือระบบ Multi-user ที่รองรับการใช้งานหลายคน ซึ่งแต่ละ user สามารถเลือกติดตั้งแอปและตั้งค่าต่างกันได้ แต่ถ้ามีการอัพเดทแอปก็จะอัพเดทในทุก user รวมถึงการเชื่อมต่อ WiFi ก็จะจดจำบนทุก user ด้วย

บางคนอาจใช้งานคนเดียว แต่ประยุกต์ใช้โดยแยก user สำหรับงานที่ต่างกันเช่น account แรกสำหรับการใช้งานส่วนตัว และอีก account สำหรับติดตั้งแอปเพื่อใช้งานในบริษัท

DSC00125_

นาฬิกาปลุกเป็นอีกสิ่งที่โดดเด่นมาตั้งแต่ยุค LG G2 เพราะมีระบบ Puzzle หรือการตอบคำถามก่อนปิดเสียงปลุก ซึ่งเหมาะสำหรับคนขี้เซาอย่างมาก และยังตั้ง Auto-start app ได้ด้วยว่าต้องการเปิดแอปอะไรหลังจากที่มีการปลุก ซึ่งส่วนนี้จำกัดไว้แค่ 4 แอป คือ Calendar, Email, Music, Weather

DSC00101_

การใช้งาน 2 ซิมยังไม่โดดเด่นเท่าต้นตำรับอย่างแบรนด์จีน เริ่มจากการเลือกซิมใดซิมหนึ่งเป็น 3G/4G และอีกซิมจะเป็น 2G โดยสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้เน็ตจากซิมไหน ซึ่งโดยปรกติแล้วเราก็จะเลือกใช้งานจากซิมที่เปิด 3G/4G

การโทรออกก็ยังไม่ดีพอ เพราะไม่มีปุ่มโทรแยกแต่ละซิม แต่ใช้วิธีสลับซิมโทรออกจากแถบแจ้งเตือนด้านบนซึ่งไม่สะดวกนัก แต่ยังดีที่ยังมีการสั่นเตือนเมื่อปลายทางรับสาย รวมถึงระบบตัดเสียงรบกวนและเพิ่มความคมชัดของการโทร

การควบคุมด้วยท่าทางมี 2 อย่างคือ ยกแนบหูเพื่อรับสาย และ คว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียงเรียกเข้า และยังสามารถจัดลำดับ tab เมนูด้านบนได้ตามชอบ

ลูกเล่นเล็กๆ แต่ประยุกต์ใช้ได้ก็คือ  Ringtone ID ที่เล่นเสียงเรียกเข้าตามเบอร์แต่ละคน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่เบื่อจะตั้งเสียงเรียกเข้าเอง ก็ปล่อยให้ตัวเครื่องจัดการ Generate เสียงเรียกเข้าให้แทน และมีประโยชน์สำหรับคนที่จำ pattern เสียงได้ เพราะจะรู้ทันทีว่าใครโทรมาโดยไม่ต้องหยิบเครื่องมาดูเบอร์

DSC00128_

การดูรูปมีทั้งแบบแยกตามอัลบั้มและเรียงตามเวลา ซึ่งสามารถจีบและถ่างหน้าจอเพื่อปรับขนาดและปริมาณรูปที่แสดงได้ และที่น่าสังเกตก็คือ LG G4 ตัดแอป Video ทิ้ง และให้เข้าผ่านทาง Gallery แทน

ตัวเครื่องเล่น Video ยังคงความสามารถเด่นๆ ไว้ตั้งแต่ปัดหน้าจอเพื่อปรับเสียง ปรับแสง และสามารถ capture เป็นภาพนิ่งได้ แต่เมนู capture จะถูกซ่อนจากค่าตั้งต้น ต้องไปเปิดใช้งานจากใน Setting

DSC00129_

ปรกติแล้วมือถือส่วนใหญ่ใช้วิธีจับภาพหน้าจอด้วยการกดปุ่มลดเสียงพร้อมกับปุ่มเปิดเครื่อง ซึ่ง LG G4 ก็ทำได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ถนัดก็สามารถจับภาพหน้าจอด้วยการเรียกใช้ QuickMemo+ และบันทึกภาพแทน

DSC00124_

การเรียกใช้ Dual window ทำได้ด้วยการเข้าไปที่ recent apps และกดที่ปุ่ม Dual window หรือกดที่สัญลักษณ์บนตัวแอป แต่ยังทำได้ไม่ดีเท่ากับเจ้าดั้งเดิมอย่าง Samsung เนื่องจาก Dual window ของ LG G4 ทำได้แค่การเปิดแอปพร้อมกัน และ resize ปรับขนาดหน้าต่าง แต่ไม่มีลูกเล่นอื่นๆ

DSC00127_

แต่บน LG G4 มีสิ่งทดแทนคือ QSlide ที่มีลักษณะเป็น floating app ให้แอปลอยอยู่เหนือแอปอื่น โดยมีให้เลือกใช้ดังนี้

  • Phone
  • Contacts
  • Messaging
  • Email
  • Calendar
  • File Manager
  • Internet
  • Calculator

2015-06-07 07_

คะแนน benchmark ไม่ใช่ทุกอย่าง มันไม่ได้บ่งบอกว่าการใช้งานจริงจะลื่นไหลหรือมีประสิทธิภาพดี แต่มันก็ช่วยให้อ้างอิงได้ง่ายขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานของ LG G4 ที่สอดไส้ด้วย Snapdragon 808 ก็ได้คะแนน Antutu อยู่ที่ 48,244 คะแนน

แม้ว่าโดยรวมจะทำงานได้ลื่นไหล แต่ก็มีปัญหาเดียวกับ Galaxy S6 คือใช้จริงแล้วประสิทธิภาพบางอย่างแย่กว่ารุ่นเก่า โดยเฉพาะการเล่นเกม… บางเกมก็มีกระตุกให้เห็น ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากซีพียูและระบบที่ใหม่เกินไป ทำให้นักพัฒนาแอปยังไม่ได้ optimize ปรับแต่งเกมให้ใช้งานได้ลื่นไหล ( มีผู้ใช้หลายคนเจอปัญหานี้ หาข้อมูลเพิ่มได้จากกรุป Samsung Galaxy S6 & S6 Edge Club Thailand และ LG G4 Club Thailand )

และคาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการตั้งค่าเริ่มต้นที่เปิดระบบ Game optimizer เพื่อให้ประหยัดพลังงานเวลาเล่นเกม เพราะมีผู้ใช้บางส่วนบอกว่าหลังจากปิด Game optimizer ก็ทำให้เกมลื่นไหลขึ้น

นอกจากเรื่องของความเร็วก็ยังมีประเด็นเรื่องของความร้อนที่เป็นปัญหาของซีพียูปีนี้ เมื่อทดสอบเล่นเกม Goat Simulator บน ZenFone 2, Galaxy S6, LG G4 พบว่าความลื่นไหลไม่ต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างกันชัดเจนคือ Galaxy S6 เครื่องร้อนมาก และ LG G4 เริ่มอุ่นๆ ส่วน ZenFone 2 ตัวเครื่องเย็นปรกติดี

DSC00143_

แม้ว่า LG G4 จะรองรับ Quick Charge 2.0 ที่ช่วยให้ชาร์จเร็ว แต่ในกล่องกลับให้หัวแปลงแบบธรรมดาซึ่งไม่รองรับระบบนี้ ดังนั้นถ้าอยากชาร์จเร็วก็ต้องซื้อเพิ่ม และในขณะที่มือถือรุ่นใหม่ๆ เลือกใช้วิธีฝังแบตเตอรี่ไว้ในตัวเครื่อง แต่ LG G4 เลือกใช้วิธีดั้งเดิมคือแกะฝาหลังถอดแบตเตอรี่ได้ ซึ่งหลายคนก็ชอบแบบนี้ เพราะสามารถถอดสลับแบตเตอรี่ได้ทันที ไม่ต้องเสียบ Power Bank ให้ลำบาก

ความอึดของแบตเตอรี่จากการใช้จริงนับว่าทำได้แย่กว่า LG G2 ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องบอกว่า LG G2 ทำได้อึดกว่าชาวบ้านถึงจะถูก… แต่เมื่อเทียบกับ LG G3 ก็นับว่าไม่ได้แย่เลย และถ้าเทียบกับ Galaxy S6 ก็ต้องบอกว่า LG G4 อึดกว่า แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและแอปที่ติดตั้งด้วย

DSC00133_

สิ่งที่ทำให้ LG G4 เด่นกว่ารุ่นอื่นอย่างชัดเจนก็ต้องยกให้เป็นเรื่องของกล้อง ที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ LG G2 ที่ใส่ OIS ช่วยลดความเบลอ และถ่ายในที่แสงน้อยได้ดี ตามมาด้วย LG G3 ที่ใส่ Laser Auto Focus ที่โฟกัสได้เร็วมาก และน่าจะเร็วที่สุดในขณะนั้น เพราะทำให้แบรนด์คู่แข่งอย่าง Galaxy S5 ถึงกับหยุดโปรโมทว่าโฟกัสเร็วที่สุด และ Laser Auto Focus ยังช่วยให้การถ่ายในที่แสงน้อยดีขึ้นอีกด้วย

พอมาถึง LG G4 ก็ได้ปรับปรุงความสามารถขยับเป็น OIS 2.0 ซึ่งเป็นกันสั่น 3 แกนในแนว x, y, z ต่างจากรุ่นอื่นที่มีแค่ x, y ทำให้ภาพเบลอน้อยลง และเก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น บวกกับ Color Spectrum Sensor ที่ช่วยให้สีสันสมจริงมากขึ้น และยังใช้เซ็นเซอร์ขนาด 1/2.6 นิ้ว ที่จัดว่าใหญ่สำหรับกล้องมือถือ

ประเด็นของ OIS 2.0 นอกจากการทดสอบเองแล้ว ก็ยังมีผู้ใช้บางส่วนที่ถ่ายรูประหว่างปั่นจักรยานหรือวิ่ง และภาพที่ได้ก็ยังคมชัด ก็เรียกได้ว่ากันสั่นได้ดีสมคำโฆษณา

เรื่องของการโฟกัสก็นับว่า LG G4 มีจุดเด่นกว่าคู่แข่งเพราะรองรับการโฟกัส 9 จุดใน Auto mode หรือจะแตะหน้าจอเลือกตำแหน่งโฟกัสเองก็ได้ และจากการทดสอบพบกว่า LG G4 สามารถโฟกัสใบหน้าได้สูงสุด 5 คน

ด้าน UI/UX ยังสานต่อแนวทางเรียบง่ายจาก LG G3 ซึ่งมีข้อดีคือใช้งานง่าย แต่ข้อเสียคือปรับแต่งจัดเรียงตำแหน่ง shortcut ไม่ได้เลย ส่วนการตั้งค่าก็เหลือเพียงไม่กี่อย่าง เช่น HDR Auto, On, Off และไม่สามารถเลือกความละเอียดของภาพได้ จะเลือกได้ก็แค่อัตราส่วน 16:9, 4:3, 1:1 ส่วนความละเอียดการถ่ายวีดีโอสูงสุดอยู่ที่ UHD และถ่าย Slow Motion ได้ที่ความละเอียด HD แต่ LG G4 ก็มีข้อจำกัดของการถ่ายวีดีโอ UHD หรือ 4K เหมือนกับรุ่นอื่นๆ คือถ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 5 นาที

การถ่ายรูปใช้วิธีกดที่ปุ่มบนหน้าจอ หรือจะกดปุ่มลดเสียงแทนก็ได้ ซึ่งบางรุ่นก็ทำได้คล้ายแบบนี้แต่ความต่างก็คือ LG G4 มีระบบ OIS 2.0 ที่กันสั่นได้ดีมาก ทำให้เวลากดถ่ายรูปด้วยปุ่มลดเสียงแล้วภาพค่อนข้างคมชัด ไม่เบลอเพราะมือสั่นแบบรุ่นอื่น แต่ถ้าทั้ง 2 วิธียังไม่สะดวกพอก็มี Simple mode ที่สามารถแตะหน้าจอเพื่อถ่ายรูปได้

DSC00150_

ส่วนของ Auto mode อาจจะดูสูสีกับ Galaxy S6 ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบ ยกเว้นในที่แสงน้อยที่ LG G4 เก็บรายละเอียดได้ดีกว่าอย่างชัดเจน แต่พอเป็น Manual mode กลับกลายเป็นว่า Galaxy S6 ไม่ใช่คู่แข่งเพราะ LG G4 ทำได้ดีกว่ามาก ถ้าจะมีใครสักคนที่เก่ง Manual mode และพอจะสู้กันได้ก็คงเป็น Xiaomi Mi Note

สิ่งที่ LG G4 ทำได้ใน Manual mode คือ

  • White Balance: 2400K ถึง 7400K
  • Manual Focus
  • EV: -2.0 ถึง 2.0 ( ปรับครั้งละ 0.2 )
  • ISO: 50 ถึง 2700
  • Shutter Speed: 1/6000 ถึง 30
  • AE-L วัดแสงและล็อกได้
  • File: เลือกบันทึกเป็น JPG และ RAW ได้

ความสามารถของ Manual mode ทำเอาถูกใจหลายคนเพราะปรับแต่งได้เยอะและทำได้ดี ยกตัวอย่างเช่นการถ่าย Light Trail ให้แสงไฟตอนกลางคืนให้เป็นเส้นก็ตั้ง Shutter Speed เพียง 1-2 วินาที ก็ได้แสงไฟเป็นเส้นโดยไม่ต้องลากยาวเป็น 30 วินาทีแบบบางรุ่น ซึ่งการลดระยะเวลาเหลือเพียง 1-2 วินาทีก็ทำให้สามารถถ่ายด้วยมือเปล่าง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง ( แต่ก็ควรใช้ )

กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล แม้ไม่มีแสงไฟแฟลชแต่ LG G4 ใช้วิธีจำลองแสงแฟลชด้วยแสงจากหน้าจอ โดยการปรับพื้นหลังของจอให้เป็นสีขาวอมชมพู และความละเอียด 8 ล้านพิกเซลทำให้เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าเทียบกับ Galaxy S6 ก็เห็นได้ชัดว่าภาพของ S6 มีมุมมองที่กว้างกว่า แต่ปัญหาของภาพที่มีมุมมองกว้างมากๆ คือความผิดเพี้ยนบริเวณขอบภาพ… ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบ

แต่เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือเรือธงหลายรุ่นของปีก่อนเลือกใช้แสงแฟลชแบบ Dual Tone แต่ LG G4 และ Galaxy S6 กลับถอยมาใช้แฟลชเดี่ยว ทำให้การเปิดแสงแฟลชทำได้ไม่ดีเท่ารุ่นอื่น โดยเฉพาะ Xiaomi Mi Note ที่มี Chroma Flash

เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง Galaxy S6 ก็ต้องบอกว่าภาพรวมใกล้เคียงกันมาก ซึ่งผมได้ทำการทดสอบโดยเอาภาพชุดเดียวกันไปปล่อยไว้ในกรุป  Samsung Galaxy S6 & S6 Edge Club Thailand และ LG G4 Club Thailand ผลคือกรุป Galaxy S6 ก็จะบอกว่าภาพของ Galaxy S6 สวยกว่า ส่วนกรุป LG G4 ก็จะบอกว่าภาพจาก LG G4 สวยกว่า

batch_2015-06-02 21.03.46-tile

แต่มีความต่างอยู่ 2 ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องการวัดแสง และ เรื่องรายละเอียด ซึ่ง LG G4 วัดแสงได้แย่กว่าในบางสถานการณ์

2015-06-02 21.35.04-tile

แต่เรื่องของรายละเอียดจะเห็นว่า LG G4 ทำได้ดีกว่าเกือบทุกสถานการณ์ยกเว้นที่กลางแจ้งที่ทำได้ดีพอกัน หรือกรณีวัดแสงผิดพลาดที่รายละเอียดของ LG G4 หายไปเพราะแสงที่มากหรือน้อยเกินไป

และความแตกต่างจะเห็นได้ชัดในที่แสงน้อยซึ่ง LG G4 ได้ภาพที่คมชัด ตัวหนังสือยังอ่านได้ ต่างจาก Galaxy S6 ที่ดูไม่รู้เรื่องเลย

ถ้ามองในภาพรวมแล้ว สีสัน มิติของภาพ  ความคมชัด และ Manual mode ก็ต้องบอกว่า LG G4 ทำได้น่าประทับใจมาก ส่วนเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาก็คือไมค์ของ LG G4 และเท่าที่ได้ทดสอบคือไมค์ตัดเสียงลมได้ไม่ดี ทำให้การถ่ายคลิปวีดีโอได้เสียงที่ไม่ดีเท่าที่ควร

ความเห็นจากทีมข่าวล้ำหน้า

ในรายการล้ำหน้าโชว์ พิธีกรได้ตั้งคำถามไว้ว่า “LG G4 มีอะไรดี ทำไมบล็อกเกอร์ถือกันเต็มบ้านเต็มเมือง” นั่นก็พอจะเป็นคำตอบได้แล้วว่าถ้ามันไม่ดีจริง คนในวงการที่อุดมไปด้วยข้อมูลคงไม่วางเงินจองตั้งแต่วันแรก ทั้งที่ได้เล่นเครื่องจริงไม่ถึง 10 นาที

ส่วนคู่แข่งที่ดูสมน้ำสมเนื้อกับกับ LG G4 ก็คงไม่พ้น Galaxy S6 ซึ่งมีดีไม่แพ้กัน แต่ถ้าถามว่ามือถือเครื่องไหนคุ้มค่าน่าซื้อที่สุด นาทีนี้คงไม่มีรุ่นไหนน่าสนใจกว่า LG G4 อีกแล้ว

อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง อยากช่วยเหลือผู้คน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย บอกเล่าในสิ่งที่ตัวเองรู้ และอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมน่าอยู่