รีวิว Xiaomi Mi Band 1s เพิ่ม Heart Rate Sensor ในราคาสุดคุ้ม!

Xiaomi Mi Band 1s (บางที่เรียกว่า Mi Band Pulse) เป็นสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพที่ต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นแรก โดยมีการเพิ่มเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate Sensor) เข้ามา หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ตอนนี้ได้บินข้ามกำแพงเมืองจีนมาอยู่ที่ข้อมือของทีมงานล้ำหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาดูกันว่าเจ้า Mi Band 1s จะเด็ดดวงขนาดไหน

Xiaomi Mi Band 1s

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากรุ่นแรกใน Xiaomi Mi Band 1s

อย่างแรกที่เปลี่ยนไปเลยก็คือตัวกล่อง packaging ที่มีขนาดเล็กลงเกือบครึ่ง แต่ก็ยังคงเป็นกระดาษลังน้ำตาลรักโลกที่พิมพ์โลโก้ “Mi” เอาไว้ที่ด้านบนของกล่อง ส่วนด้านหลังมีแปะสติกเกอร์ระบุรุ่นและสเปคคร่าวๆ เอาไว้

Xiaomi Mi Band 1s Box

เปิดฝาออกมา (ซึ่งเปิดยากมาก ไม่รู้ทำไมไม่ยอมเว้าฝาให้เปิดได้ง่ายๆ หน่อย) ก็จะเจอตัว Core ของ Mi Band 1s ก่อนเป็นอันดับแรก แกะออกจากตัวขัดพลิกดูด้านหลังก็จะเห็นว่ามีตัว Heart Rate Sensor เพิ่มเข้ามาสำหรับจับ pulse การเต้นของหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย ส่วนด้านในกล่องจะมีสายรัด (ที่แถมมากับในกล่องจะเป็นสีดำ) และตัวสายสำหรับเสียบชาร์จ USB พร้อมทั้งคู่มือ Quick Guide ภาษาจีนล้วนๆ

Mi-Band-1s-02

แกะกล่องมาอย่างแรกแนะนำให้ทำการเสียบชาร์จไฟให้เต็มก่อนเลย โดยการเสียบชาร์จตัวไฟ LED ที่ตัว core จะกระพริบเพื่อแสดงปริมาณแบตเตอรี่ ชาร์จครั้งแรกประมาณชั่วโมงกว่าๆ ไฟก็จะเต็ม 3 ดวง

Mi-Band-1s-03

Mi Fit application

ระหว่างที่กำลังรอชาร์จไฟตอนนี้ให้ไปทำการโหลดแอพที่ใช้งานควบคู่กันนั่นคือ Mi Fit ที่มีทั้งในระบบ iOS และ Android โดยที่เวอร์ชั่น Android นั้นต้องเป็นเวอร์ชั่น 1.7.811 ขึ้นไปจึงจะสามารถใช้งานกับ Mi Band 1s ได้

  • iOS : รองรับตั้งแต่ iOS 7.0 บน iPhone 4s/5/5c/5s/6/6 Plus/6s/6s Plus
  • Android : รองรับตั้งแต่เวอร์ชั่น 4.4 Kitkat

จัดการโหลดมาติดตั้งให้เรียบร้อยแล้ว เริ่มมาจะต้องทำการสร้างบัญชีของ Mi เสียก่อน ถ้าใครยังไม่มีก็ให้ทำการ Sign Up ได้เลย เพราะบัญชีนี้จะเป็นตัวเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ของเราไว้ แม้ว่าจะเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเปลี่ยนมือถือใหม่ ข้อมูลทุกอย่างก็จะซิงค์กลับมาได้ทั้งหมด

Start & Sync

หลังจากที่ชาร์จไฟเต็มเรียบร้อยแล้วจัดการยัดตัว Core เข้ากับสายให้เรียบร้อยแล้วสวมใส่ที่ข้อมือรอไว้ได้เลย จากนั้นเข้าไปที่แอพ Mi Fit ในสมาร์ทโฟนที่ Sign in ไว้แล้วกดเลือก Choose Devices หรือเลือก Settings ซึ่งในหน้านี้จะมีอุปกรณ์ของ Xiaomi ที่ออกมารองรับระบบการออกกำลังกาย ซึ่งมี Mi Band, Mi Scale (ที่ชั่งน้ำหนัก) LN Furious Rider และ LN Speed (รองเท้าวิ่ง)

Mi-Band-1s-sync

เลือกทำการเชื่อมต่อกับ Mi Band ตัวแอพจะทำการสแกนหา (อย่างลืมเปิด Bluetooth ด้วยนะ) รอสักพักจนไฟ LED บน Mi Band ของเรากระพริบ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเชื่อมต่อกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ตัว Mi Band ยังให้เราเลือกที่จะเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพทั้งจำนวนก้าวเดิน, การวิ่ง, การนอน ไปให้กับตัว Google Fit (ของ Android) และ Healthkit (ในระบบ iOS) และอย่าลืมจัดการใส่ข้อมูลส่วนตัวตามความเป็นจริง ทั้งเดือนปีเกิด, น้ำหนัก, ส่วนสูง, และเป้าหมายการเดินในแต่ละวัน

แบตเตอรี่โคตรอึด!

จุดเด่นของ Xiaomi Mi Band 1s ที่เลื่องลือกันมาตั้งแต่รุ่นแรกก็คือความอึดของแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานต่อการชาร์จครั้งนึงนานมาก ถึงแม้ว่าตัวแบตเตอรี่จะมีมาเพียงแค่ 45 mAh แต่ตามสเปคที่ Xiaomi บอกไว้ในรุ่นแรกอยู่ที่ 30 วันหรือเดือนนึง ส่วนใน 1s อยู่ที่ 20 วัน และจากที่ลองใช้ 5 วัน แอพคำนวนว่าใช้แบตไปแค่ 74% ก็ประมาณได้ว่าจะใช้ได้ 18-20 วันจริงๆ ถือได้ว่าเป็น Fitness Tracker ที่ใช้งานได้นานที่สุดในท้องตลาดแล้ว ณ เวลานี้

กันน้ำกันฝุ่น ใส่อาบน้ำได้ ไม่ต้องถอด

Mi Band 1s มีมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่นที่ระดับ IP67 คือสามารถอยู่ในน้ำได้ลึก 1.5 เมตรเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งระดับนี้คุณสามารถใส่อาบน้ำได้โดยไม่ต้องถอด ไม่มีปัญหาเรื่องเหงื่อและความชื้น แต่ว่าถ้าจะว่ายน้ำก็แนะนำว่าให้ถอด เพราะมันก็ไม่ได้สามารถจะตรวจจับการว่ายน้ำได้นะ

Settings

ก่อนจะเริ่มใช้งาน มาดูกันในส่วนของการตั้งค่าต่างๆ เพื่อการใช้งาน Mi Band 1s ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่ต้องบอกว่ามันไม่ได้มีดีเพียงแค่เอาไว้สำหรับออกกำลังกาย ยังมีลูกเล่นพิเศษๆ พ่วงมาให้อีกหลายอย่าง

  • Find Band สำหรับกดเพื่อหาตัวสายว่าอยู่ที่ไหน กรณีที่ถอดวางไว้ แต่มันก็ต้องอยู่ในรัศมีการทำการของ Bluetooth ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เพราะมันทำได้แค่สั่งให้สายรัดสั่นกับมีไฟ LED กระพริบแค่นั้นเอง
  • Band Location เลือกระบุตำแหน่งที่สวมใส่ได้ มีให้เลือกที่แขนข้างซ้าย, ข้างขวา และ คอ (ไม่ต้องตกใจ ไม่ได้ให้รัดคอ แต่เป็นใส่กับคลิปแล้วเหน็บกับปกเสื้อ แต่ถ้าเลือกตำแหน่งนี้ จะไม่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้)
  • Unlock Device using band ความสามารถนี้จะใช้ได้เฉพาะกับสมาร์ทโฟนระบบ Android เท่านั้น (iPhone หมดสิทธิ์) นั่นคือการใช้งานกับ Smart lock เพื่อกำหนดให้เวลาที่เราล็อคหน้าจอเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นใส่รหัส PIN หรือลาก Pattern หาว่าเราสวม Mi Band เอาไว้ ระบบล้อคหน้าจอจะถูกปิดไป แต่ถ้าเราห่างจากมือถือเช่น วางไว้ที่โต๊ะแล้วเดินไปที่อื่น หน้าจอก็จะล็อคตามปกติ ซึ่งช่วยให้เราสะดวกไม่ต้องปลดล็อคหน้าจอตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องยังคงปลอดภัยเหมือนเดิม
  • App Notifications ปิด-เปิดระบบแจ้งเตือนแอพ เราสามารถเลือกแอพได้ 3 แอพในการแจ้งเตือน เพื่อที่ว่าในแอพที่เราเลือกนี้มี Notifications ขึ้นมา ระบบจะสั่งให้ Mi Band สั่นเป็นการแจ้งเตือนเราอีกที
  • Incoming Calls เลือกให้สั่นเพื่อแจ้งเตือนเวลาที่มีสายโทรเข้า
  • Sleep Assistant เลือกให้ทำงานในระบบ Heart Rate Monitor ระหว่างที่เรานอน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเก็บข้อมูลคุณภาพการนอนของเรา (ซึ่งแนะนำให้เปิดใช้งาน)
  • Mi Band notifications เลือกเปิดให้โชว์การแจ้งเตือนของ Mi Band บนมือถือหลังจากที่มีการเตือนด้วยการสั่น
  • Activity stats notification แสดงผลสรุปการออกกำลังกายในแต่ละวันตอนช่วง 3 ทุ่มครึ่ง
  • Sleep data notification แสดงผลข้อมูลคุณภาพการนอนของเราในตอนเช้าเวลาที่เราตื่นนอน

Feature

ยังมีความสามารถอื่นๆ ของ Xiaomi Mi Band 1s ไม่ว่าจะเป็น Alarm การตั้งปลุกด้วยการสั่น  (ตั้งได้ 3 ชุดเวลา), Route Tracker การสั่งเก็บเส้นทางระหว่างการวิ่ง, Friends เลือกเชื่อมต่อเพื่อนที่ใช้งาน Mi Band เหมือนกันเพื่อจัดอันดับแข่งกัน และ Heart Rate สำหรับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ

Heart Rate Monitor Pulse

การวัดอัตราการเต้นของหัวใจใน Xiaomi Mi Band 1s จะไม่ได้ทำงานตลอดเวลา หรือคอยเก็บค่าเป็นระยะๆ เหมือนยี่ห้ออื่น เหตุผลน่าจะเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน โดยหลักๆ แล้วตัว HR จะเก็บข้อมูลได้ดังนี้

  • กดสั่งจากเมนู Heart rate เพื่อสั่งให้เช็คในตอนนั้นเลย โดยเมื่อวัดเสร็จจะบันทึกค่าพร้อมระบุวันเวลาไว้ให้ดูย้อนหลังได้
  • ทำงานระหว่างที่เรากำหนดบันทึกข้อมูลกิจกรรมการวิ่ง เพื่อกำหนดโซนของการออกกำลังกาย
  • เปิดให้ทำงานระหว่างที่นอน เพื่อให้วัดคุณภาพการนอนที่แม่นยำกว่าเดิม

Mi-Band-1s-pulse

ประสิทธิภาพด้านตรวจจับก้าวเดินในแต่ละวัน

จากการทดสอบใช้งานต่อเนื่องหลายๆ วัน เทียบกับ Fitnest Tracker ยี่ห้ออื่น ถือว่าความแม่นยำในการนับก้าวเดินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างโอเค คือไม่เกินความเป็นจริง นับเฉพาะช่วงที่เป็นการเดินจริงๆ ไม่มีมั่วนับเวลาที่นั่งทำงานหน้าคอมแล้วลากเม้าส์, นั่งรถ หรือว่าปั่นจักรยาน

Mi-Band-1s-step

Running!

ฟีเจอร์ที่ต้องบอกว่าภูมิใจนำเสนอสำหรับ Xiaomi Mi Band 1s เพราะมันสามารถที่จะเก็บสถิติและวิเคราะห์การวิ่งของเราได้ด้วย ที่ทำได้ในระดับที่ว่าน่าพอใจสำหรับราคาค่าตัวของมัน โดยการใช้งานคุณจะต้องพกสมาร์ทโฟนไปด้วยเพื่อแสดงผลค่า GPS เอามาใช้เก็บเส้นทาง, คำนวนระยะทาง, การวิ่งขึ้น-ลงเนิน ส่วนตัว Mi Band 1s จะเก็บค่าของจำนวนก้าวและอัตราการเต้นของหัวใจ

Mi-Band-1s-running

ในการวิ่งถ้าจะให้สมบูรณ์แบบเลยจะต้องมีรองเท้า Li Ning Smart Shoes ที่จะคอยเก็บค่าจังหวะการลงเท้าด้วยฝ่าเท้าด้านหน้า ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 4,000 บาท ถ้าไม่คิดจะจริงจังขนาดนั้นก็ไม่ต้องสนใจตรงนี้ก็ได้

ระหว่างที่คุณวิ่งตัวแอพ Mi Fit จะมีการแจ้งสถิติในการวิ่งของเราทุกๆ 1 กิโลเมตรเป็นแบบเสียงพูดด้วย (ตัวที่ทดสอบเป็นของ Android เสียงโค้ชเป็นสาวจีน แน่นอนว่าผมฟังไม่รู้เรื่อง) นอกจากนี้ยังมีฟังค์ชั่นเตือนด้วยการสั่น เมื่อเวลาที่อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ใน Zone* ที่เหมาะกับการออกกำลังกาย โดยจะสั่น 2 ครั้งห่างกันช้าๆ เป็นการบอกเรา แต่ถ้าหากวิ่งจน Heart Rate เกินขึ้นไปอยู่ในโซนที่อันตราย ก็จะมีการสั่นเตือนให้เราลดกำลังลงเพื่อความปลอดภัย

*ปกติการแบ่งโซนของ Heart Rate จะมีทั้งหมด 5 โซนด้วยกัน โดยจะแบ่งเป็นเปอร์เซนต์จากอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดของผู้ใช้ ซึ่งมีสูตรคำนวนอยู่ว่า “220 – อายุของเรา” สมมติถ้าอายุ 30 ปี Max HR ก็จะอยู่ที่ 220-25 = 190 ครั้งต่อนาที โดยที่ระบบของ Mi Fit จะกำหนดเอาไว้ที่โซน 2-3 (เข้าไปปรับค่าการเตือนสูงสุดได้ที่ Setting)

pulse HR

ข้อมูลจาก freeware.in.th

ส่วนตัวผมประทับใจกับความสามารถเรื่องการเตือน HR Zone ระหว่างวิ่งมากที่สุด เพราะมันเป็นตัวบอกว่าเราออกกำลังกายในระยะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดแล้วหรือยัง เพราะปกติการออกกำลังกายให้ได้ผล เพียงแค่เราวิ่งในโซนเพียงแค่ 30 นาทีก็เพียงพอแล้ว

แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า Heat Rate ของ Mi Band 1s จะไม่มีการเก็บแล้วเอามาแสดงผลเป็นกราฟสรุปเมื่อจบการวิ่ง เหมือนกับบรรดานาฬิกา GPS สำหรับวิ่ง จะมีบอกแค่ค่าเฉลี่ย กับค่าอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด รวมถึงการเตือนเรื่องโซนระหว่างวิ่ง ถือว่าเพียงพอสำหรับการวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและการลดน้ำหนักแล้ว

Sleep

การตรวจจับคุณภาพของการนอนนั้นสามารถบันทึกได้ทันที ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มเริ่มเข้าโหมด หรือกดอีกครั้งตอนที่ตื่น เรียกว่าอยากจะนอนก็นอนไปได้เลย ระหว่างที่นอนมันจะดูว่าการนอนเรานอนในสภาวะที่หลับลึกหรือหลับตื้นนานแค่ไหน ยิ่งหลับลึกได้นานเราก็จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่เท่านั้น คนที่หลับตื้นนานๆ หรือตื่นบ่อยๆ ระหว่างนอนก็จะมีผลให้อ่อนเพลียและพักผ่อนไม่เพียงพอ

Mi-Band-1s-sleep

นอกจากนี้ยังมี Setting ให้เลือกการปลุกตื่นแบบ Early Bird คือมันจะสั่นปลุกเราก่อนเวลาที่เราจะตื่นจริงๆ ประมาณ 30 นาที เพื่อให้เราไม่ตื่นจากหลับลึกขึ้นมาทันที ซึ่งจะทำให้เราสดชื่นมากกว่า

สรุป

ถือว่าการมี Heart Rate Sensor เพิ่มขึ้นมา ช่วยให้ Mi Band มีความสามารถมากกว่าเป็นแค่อุปกรณ์นับก้าวเดินหรือเก็บข้อมูลการนอน แต่มันกลายเป็นอุปกรณ์ผู้ช่วยสำหรับคนที่ต้องการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพและลดน้ำหนัก รวมถึงฟีเจอร์ใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟนในเรื่องการเตือนก็ถือว่าน่าประทับใจ

สำหรับเรื่องของราคานั้น ในหน้าเว็บของ Xiaomi ตั้งราคาค่าตัวของ Xiaomi Mi Band 1s เอาไว้ที่ 99 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 560 บาทเท่านั้น ส่วนตัวผมสั่งซื้อออนไลน์จากร้านใน Aliexpress ที่ตอนนี้ทุกร้านพร้อมใจกันตั้งราคาขายกันตั้งแต่ $33-40 (ประมาณ 1,200 – 1,400 บาท)

เอาเป็นว่าถ้าใครพอรับกับราคานี้ได้ก็สั่งซื้อกันดู หรือจะรอบรรดาร้านหิ้วเข้ามาขายในไทย

xiaomi-mi-band-1s

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน