เรื่องของข่าวและสเป็ก หลายคนก็คงได้ผ่านตาไปแล้วจากงานเปิดตัวของ Galaxy S7 แต่รอบนี้เราจะมาพรีวิวและขยี้กันให้ลึกลงไปอีก รวมถึงบทวิเคราะห์ของรุ่นนี้ที่หลายคนบอกว่า “ไม่ว๊าว” แต่ผมจะบอกว่ามันว๊าวยังไง
ก่อนอื่นเรามาสรุปกันในแง่ของสเป็ก Galaxy S7 และ S7 edge กันอีกครั้งก่อนจะเริ่มร่ายยาว
ในส่วนของสเป็กก็จะเห็นความน่าสนใจตรงที่ครั้งนี้ Samsung เลือกที่จะใช้หน้าจอ 2 ขนาดคือ S7 ( flat ) ที่ไม่มีขอบโค้ง กับหน้าจอขนาด 5.1 นิ้ว ส่วน S7 edge ขยับขึ้นไปเป็น 5.5 นิ้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจตลาดเมื่อสมัย Galaxy S6 ที่คนชอบจอใหญ่มากกว่า แต่ก็ยังมีคนที่ชอบจอขนาดเล็ก เลยทำออกมา 2 ขนาด …และไม่ต้องถามหา Galaxy S7 edge+ เพราะถ้าอิงข้อมูล ณ ตอนนี้ก็คือไม่มีในแพลน
Samsung สร้างความต่างให้มากกว่าเรื่องของขนาดก็คือเรื่องของหน้าจอโค้ง ซึ่งเป็นการวางหมากคล้ายกับ Apple ที่เลือกให้ iPhone 6s Plus มีหน้าจอที่ละเอียดกว่า iPhone 6s เพื่อให้เกิดความต่างของไลน์สินค้า ไม่ให้ทับไลน์กันโดยตรง
ส่วนต่อมาที่เป็นการเรียนรู้และปรับปรุงจากครั้ง S6 ก็คือในแง่ของ ergonomic ที่ปรับให้ด้านหลังตัวเครื่องมีความหนาและโค้งมากขึ้น เพื่อให้ถือได้กระชับมือกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ทำให้กล้องดูนูนออกจากตัวเครื่องน้อยลง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากที่ตัวเครื่องหนาขึ้น
โดย Galaxy S6 หนา 6.8 mm และ Galaxy S7 หนา 7.9 mm ส่วน S7 edge ที่หนา 7.7 mm ถูกเทียบกับ S6 edge+ ที่หนา 6.9 mm หรือถ้าตีคร่าวๆ ก็คือหนากว่าเดิม 1 มิลลิเมตร
รุ่นนี้กันน้ำในระดับ IP68 ก็คือลึก 1.5 เมตร ไม่เกิน 30 นาที และแน่นอนว่าถ้าแถบความชื้นขึ้นก็ถือว่าประกันขาด ดังนั้นแนะนำว่าใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจะเหมาะกว่าการเอาลงไปเล่นในสระน้ำ
และการกันน้ำก็เป็นอีกสิ่งที่สาวกโวยวายเพราะ Galaxy S5 เคยชูเรื่องกันน้ำ แต่กลับถูกถอดออกบน S6 ดังนั้นเรื่องนี้เลยปัดฝุ่นมาไว้บน S7 ในแบบที่ไม่ต้องมีฝาปิดช่อง microUSB อีกแล้ว และยังมีระบบแจ้งเตือนเมื่อเสียบชาร์จในขณะที่พอร์ตยังมีความชื้นอยู่ เพื่อป้องกันการช็อตของวงจร
รวมถึงเรื่องของ microSD ที่สมัย Galaxy S6 เน้นเรื่องของคุณภาพเลยทำหน่วยความจำภายในให้เร็ว และไม่ใส่ microSD มาให้ …แต่ในเมื่อมีเสียงเรียกร้องก็เลยเอากลับมาอีกครึ่ง ซึ่งครั้งนี้เป็นแบบ Hybird Slot ก็คือ จะเลือกใส่เป็น 2 ซิม หรือ 1 ซิมกับ microSD ก็ได้
อีกสิ่งที่ถูกหยิบมาโฆษณาตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวก็คือหน้าจอแบบ Always On ที่จะแสดงผลตลอดเวลา โดยเลือกได้ว่าจะให้เป็นนาฬิกาหรือปฏิทิน และสิ่งที่คนกังวลก็คือหน้าจอจะ burn รึเปล่า? ถ้าอิงตามหลักการแล้วไม่มีปัญหาครับ เพราะกราฟฟิกจะมีการโยกตำแหน่งตลอดเวลา คล้ายกับ Screen saver บน Windows 98 ยังไงยังงั้นเลย ในแง่แบตเตอรี่ก็ถือว่ากินไฟน้อยมากเพราะหน้าจอแบบ Amoled จะประหยัดไฟกับการแสดงผลสีดำ
เรื่องของขอบจอโค้งก็เพิ่มความสามารถให้มากขึ้น จากเดิมที่มีแค่ทางลัดเปิดแอพ ก็กลายเป็นทางลัดเรียกฟังชั่นของแอพ เช่นเดิมทีสามารถใส่ทางลัดเพื่อเปิดกล้อง แต่ตอนนี้เลือกทางลัดเพื่อเปิดกล้องหน้าได้ …ก็คือสะดวกกว่าเดิมนั่นเอง และระหว่างหน้าจอปิดอยู่ก็สามารถปัดขอบทั้ง 2 ด้านเพื่อเรียกดูการแจ้งเตือนได้
ระบบ Smart Manager ที่คอยดูแลรักษาเครื่องก็ยังคงอยู่ และถ้าใครช่างสังเกตก็จะเห็นว่า Galaxy S7 ยังคงเลือกใช้บริการของ Clean Master เหมือนรุ่นก่อนๆ ซึ่งความจริงแล้วตัว engine ของเจ้านี้ไม่ได้น่ากลัวอะไรครับ แต่ที่เค้าไม่แนะนำให้ติดตั้งแอพ Clean Master เพราะมันขยันเกินงาม
ระบบเสียง EQ และการจำลองสถานการณ์ก็มีให้ปรับได้ และที่เพิ่มเติมมาจากรายงานก็คือ Galaxy S7 เลือกใช้ชิปเสียงอย่าง CS47L91 …ซึ่งก็ต้องรอฟัง feedback กันอีกทีว่าทำได้ดีแค่ไหน
และอีกสิ่งที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ยุคของ Galaxy S6 ก็คือ Samsung หันมาใช้แนวคิดเดียวกับ Apple มากขึ้น เริ่มโม้สเป็กน้อยลง ไม่เล่น “สงครามตัวเลข” เหมือนในอดีตแต่หันมาพูดถึงการใช้จริงมากกว่า แม้แต่รายละเอียด CPU และ RAM ก็ถูกนำเสนอแบบผ่านๆ ในงานเปิดตัว ไม่ได้ถูกนำมาขยี้เจาะลึกใดๆ แต่ก็ได้บอกไว้ว่ารุ่นนี้มีประสิทธิภาพดีกว่ารุ่นก่อน 30.4%
ซึ่งจากการสอบถามก็ได้ข้อมูลมาว่า Galaxy S7 มีซีพียู 2 รุ่นตามข่าวลือคือ Snapdragon 820 และ Exynos ซึ่งรุ่นที่เข้ามาทำตลาดในไทยเป็น Exynos ครับ
สิ่งหนึ่งที่น่าจะถูกใจหลายคนก็คือ Game Launcher ซึ่งจะทำการปิดการแจ้งเตือนระหว่างเล่นเกมเพื่อไม่ให้มีข้อความเด้งมากวนใจ รวมถึงการตั้งค่าระบบประหยัดพลังงานและ framerate ได้ด้วย และที่น่าสนใจก็คือมันถูกออกแบบมาให้เหมาะกับ game caster มากขึ้นด้วยระบบ record เกมที่สามารถเปิดกล้องหน้าให้เห็น acting ของผู้เล่นอยู่ในจอเล็กๆ ได้ด้วย
และเนื่องด้วย Samsung ออกแบบปุ่ม navigator แบบไม่อิงตามมาตรฐาน Google Nexus ด้วยการใช้ปุ่ม recent apps, home และ back แบบ hardware ทำให้ที่ผ่านมามี gamer กดพลาดเผลอไปโดนปุ่มต่างๆ ดังนั้น Game Tool เหล่านี้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการ disable ปิดการทำงานของปุ่มพวกนี้ได้ …ช่วยให้การถือเครื่องเล่นเกมทำได้สะดวกมากขึ้น
ส่วนต่อมามีชื่อว่า Galaxy Labs ครับ …เป็นหัวข้อที่จะนำของใหม่ๆ มาให้เราลองใช้งานก่อน ซึ่งผมได้ทดสอบเปลี่ยนหน้า home screen ให้เป็นเหมือน iPhone ( และแบรนด์จากฝั่งจีน ) ที่ไม่มี app drawer แต่ใช้วิธีเทกระจาดแอพทั้งหมดลงมายังหน้าจอ และยังสามารถปรับจำนวนไอคอนแอพบนหน้าจอได้ตั้งแต่ 4×4 ไปจนถึง 5×5
ส่วนที่ต้องขยี้กันเยอะเป็นพิเศษก็คือเรื่องกล้องเพราะ end user ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารก็มักจะยังอยู่ในโลกของ “การตลาดยุคก่อน” ที่แข่งกันโม้จำนวนพิกเซลด้วยความละเอียดกล้องสูงๆ และจะเห็นได้ว่าพอ Galaxy S7 เปิดตัวด้วยกล้องหลังความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ก็จะมีสาวกกลุ่มหนึ่งบ่นว่า “ลดความละเอียดลงทำไม” ที่ผมต้องบอกก็คือ “หมดยุคของจำนวนพิกเซลเยอะๆ แล้ว”
เรื่องนี้ต้องย้อนอดีตไปดูว่าทำไมช่วงประมาณปี 2013 ถึงแข่งกันโม้ความละเอียดกล้องสูงๆ …นั่นก็เพราะในยุคแรกของกล้องมือถือ มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ไม่สามารถใช้เซ็นเซอร์ดีๆ ได้ ดังนั้นสิ่งที่แต่ละค่ายทำก็คืออัดความละเอียดสูงๆ มาให้ เพื่อหวังว่าการเปิดดูในจอมันจะดูคมชัด เพราะมันแสดงผลไม่เต็ม 100%
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือหน้าจอมือถือและโน๊ตบุ๊คทั่วไป มีความละเอียดที่ Full HD ซึ่งก็คือ 1920×1080 ถ้าคำนวณออกมาจะได้ 2 ล้านพิกเซล! …แต่เรามีกล้องมือถือที่ความละเอียดมากกว่า 10 ล้านพิกเซล ก็คล้ายกับว่าเราเอาภาพมาย่อลง 5 เท่า ทำให้ภาพดูคมชัดมากขึ้น …ซึ่งหลักการคร่าวๆ ที่ใช้บนมือถือสมัยก่อนมันเป็นแบบนี้ ( ถ้าอยากอ่านละเอียด ผมเคยเขียนไว้ที่บล็อกนี้ )
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีกล้องมือถือดีขึ้นก็ทำให้ความละเอียดสูงๆ ไม่ใช่เรื่องหลักที่ควรสนใจ ซึ่งในช่วงนั้นคนต้องการมือถือที่ถ่ายได้ดีในที่แสงน้อย ก็เลยมีการมาของ OIS, Laser Focus หรือรูรับแสงที่กว้างขึ้น ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อจำกัดของมัน และคนที่นำเสนอแนวทางใหม่แต่กลับไม่เป็นที่นิยมในตอนนั้นก็คือ HTC One M7 ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิด Pixel Size ขนาดใหญ่ 2 micron ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “UltraPixel”
หรือแม้แต่ HTC One M8 ที่เป็น UltraPixel และไม่มี OIS แต่กลับถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ใกล้เคียงกับ LG G2 ที่ได้รับการยอมรับว่ากล้องดีที่สุดในเวลานั้น เนื่องจาก Pixel Size ที่ใหญ่ขึ้นก็จะสามารถรับแสงได้มากขึ้น และดีกว่าการใช้รูรับแสงกว้างๆ ค่า f ต่ำๆ ตรงที่การถ่ายในที่แสงจ้าก็ไม่สว่างจนเก็บรายละเอียดไม่ได้ …ซึ่งเป็นข้อจำกัดของมือถือที่มี f ต่ำๆ
เมื่อเวลาผ่านไปก็มีคนหยิบแนวคิดนี้มาต่อยอดและได้เสียงตอบรับที่ดีก็คือ Nexus 5x, 6p ที่ใช้ความละเอียด 12.3 ล้านพิกเซล และมีรูรับแสง f/2.0 โดยที่ไม่ขยับไปใช้ f/1.8 เหมือนที่ค่ายอื่นแข่งกัน ซึ่งเมื่อดูจากตารางก็เริ่มไขข้อข้องใจหลายคนได้ว่าทำไม iPhone ถึงติดอันดับที่คนบอกว่าถ่ายรูปสวยอยู่เสมอ นั่นก็เพราะเค้าโฟกัสที่ Pixel Size ขนาด 1.22 micron ซึ่งใหญ่กว่าคู่แข่ง แต่เลือกใช้ f/2.2 เพื่อให้มีระยะชัดที่ค่อนข้างเยอะ เหมาะสำหรับมือใหม่แต่ Nexus 5x ใช้ขนาด 1.55 micron ซึ่งใหญ่กว่านั้นอีก ทำให้ผลลัพธ์ออกมาน่าประทับใจมาก
มาดูกันต่อที่ Galaxy S7 ที่เลือกใช้กล้อง 12 ล้านพิกเซลกับ Pixel Size ขนาด 1.4 micron และ f/1.7 ซึ่งเป็นความพยายามในการเจาะจุดอ่อนของ iPhone มาโดยตลอด เนื่องจาก iPhone เป็นมือถือที่ถ่ายง่ายและสวยในที่แสงเพียงพอ แต่ไม่เก่งในที่มืด ดังนั้นถ้าจะเอาชนะ iPhone ให้ชัดๆ ก็ต้องแข่งเรื่องแสงน้อย นั่นเลยทำให้มือถือแต่ละค่ายพยายามนำเสนอเรื่องแสงน้อยมาโดยตลอด
และถ้าจะเจาะลึกลงไปอีกก็คือ Nexus 5x และ Galaxy S7 เลือกใช้เซ็นเซอร์จาก Sony เหมือนกัน โดย Nexus 5x ใช้ Exmor R IMX377 กับขนาด 1.55 micron ส่วน Galaxy S7 ใช้ Exmor RS IMX260 กับขนาด 1.4 micron …ซึ่งถ้าอิงตามชื่อแล้ว Exmor RS คือซีรี่ย์ที่เก่งกว่า Exmor R แต่เพราะขนาด micron ที่น้อยกว่ารวมถึงปัจจัยอื่นๆ รวมถึง software ที่แตกต่างกัน เลยทำให้ฟันธงไม่ได้ว่าใครเก่งกว่า
แม้ว่าการทดสอบที่ผมได้ลองเล่นเองก็พบว่า Galaxy S7 ถ่ายรูปได้น่าประทับใจและเร็วมาก ด้วยระบบ Dual Pixel ที่ Samsung อ้างว่าโฟกัสได้ดีพอๆ กับ Canon 70D แต่ก็น่าเป็นห่วงในที่แสงจ้าเพราะค่า f/1.7 มันเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงมากสำหรับกล้องมือถือ และในอดีตก็เคยมีการทดสอบระหว่าง Galaxy S6 กับ iPhone 6s และพบว่าในที่แสงเยอะ Samsung เก็บรายละเอียดภาพได้แย่กว่า iPhone …นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมห่วง
ผมไม่กังวลเรื่องที่แสงน้อย แต่ผมกังวลในที่แสงเยอะ และการเลือกใช้ f/1.7 มันเป็นอะไรที่คนเล่นกล้องชอบ แต่มันเป็นความเสี่ยงในระดับ end user เพราะมันมีโอกาสที่จะหลุดโฟกัสมากกว่าปรกติ …ซึ่งก็ต้องรอการใช้งานจริงว่า software จะประมวลผลได้ดีแค่ไหน
อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คืออัตราส่วนภาพที่กลับมาใช้ 4:3 อีกครั้ง ซึ่งเป็นขนาดที่ iPhone และ Nexus เลือกใช้มาตลอด ก็สร้างความสงสัยให้ผมและทีมงานว่า 4:3 มันดียังไงและทำไมผู้นำอย่าง iPhone และ Nexus ถึงเลือกให้ภาพนิ่งมีอัตราส่วนเป็น 4:3 …ซึ่งผมก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เคยเป็นข่าวหลุดว่า Galaxy S7 จะทำออกมาชนกับ iPhone 6s ก็คือ Motion photo ซึ่งมันก็คล้ายกับ Live Photos แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียวเพราะ Motion photo จะบันทึกภาพเคลื่อนไหวก่อนที่จะถ่ายภาพนิ่ง ( ลองดูตัวอย่างจากคลิปด้านล่างดีกว่าครับ )
และอีกโหมดที่ถูกเพิ่มเข้ามาก็คือการ Panorama จะบันทึกคลิปวีดีโอไปพร้อมๆ กับการถ่ายภาพนิ่ง …ก็คือถ่าย panorama ครั้งเดียวก็จะได้ทั้งภาพนิ่งและคลิป
ส่วนกล้องหน้าเพิ่มสิ่งที่น่าสนใจใน beauty mode ก็คือการจำลองแสงไฟแฟลชแบบเลือกทิศทางของแสงได้ ว่าจะให้แสงแรงแค่ไหน มีทิศทางจากด้านซ้ายหรือขวา …ซึ่งมันน่าสนใจมาก
อุปกรณ์เสริมอย่าง case lens ทำได้น่าสนใจและมีวัสดุที่ค่อนข้างดี หลักการของเคสตัวนี้เหมือนกับ ztylus ของฝั่ง iPhone ก็คือมีตัวเคสและตัวเลนส์ 2 แบบคือ wide และ zoom 3x …ในแง่คุณภาพก็ทำได้น่าประทับใจ แต่คิดว่าคงไม่ถูกนำมาขายในไทย เพราะเท่าที่สืบมาก็คือราคาแพงเกิน 100 usd แน่นอน ( เกิน 3,000 บาท ) และคิดว่าคนไทยคงไม่พร้อมจะซื้อ
อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือ Galaxy S7 รองรับการชาร์จเร็วแบบไร้สายแล้ว
ที่เล่ามาทั้งหมดถือเป็นการรับฟัง feedback จากสมัย Galaxy S6 และนำมาปรับปรุงบน S7 แต่ความว๊าวจริงๆ มันอยู่ที่คนนี้ครับ… Mark Zuckerberg
ถ้ายังไม่เข้าใจว่าว๊าวยังไง ผมก็จะวิเคราะห์ให้ฟัง… สูดหายใจลึกๆ แล้วเปิดใจกว้างๆ นะครับ
เรื่องพวกนี้ ไม่ใช่ว่าผมพึ่งจะมาพูดหลังจากงานเปิดตัวครั้งนี้ แต่ผมวิเคราะห์และทำนายไว้นานแล้วบนเพจส่วนตัว และมันก็ตรงด้วย
… ก่อนอื่นขออ้างอิงข้อมูลเก่าๆ ที่ว่า IBM เคยบอกว่าเปลี่ยนมาใช้สินค้า Apple แล้วปัญหาลดลงจาก 40% เหลือเพียง 5% รวมถึง Microsoft และ Dell ก็เคยบอกว่าอยากเอาชนะเบอร์หนึ่งของวงการอย่าง Apple นอกจากนั้น Microsoft ยังเคยบอกว่าคนที่จะเอาชนะ Apple ได้ก็มีเพียงแต่ Microsoft เพราะเป็นบริษัทที่มี ecosystem แข็งแกร่งพอจะบี้กับ Apple แต่ android ยังไม่ถึงขั้นนั้น …นั่นแปลว่าผู้คนยอมรับว่า Apple คือหมายเลขหนึ่งที่ทำสินค้าและระบบได้มีคุณภาพที่สุด
และถ้าย้อนกลับไปถึงยุคเริ่มแรกของ android vs iOS จะเห็นว่าฝั่ง Apple เน้นทำสินค้าดีมีคุณภาพและราคาสูง ส่วน android เกิดมาจากความเป็น community ของนักพัฒนาที่หวังจะทำของดีแบบ iPhone แต่ราคาถูกกว่า เลยเกิดเป็นการตลาดที่เน้นความคุ้มค่า ดังนั้นเราจะเห็นว่าฝั่ง android จะนำเสนอว่าราคาถูกกว่า iPhone แต่ทำได้เยอะกว่าหรือไม่ก็บอกว่าสเป็กสูงกว่า …ในขณะที่ Apple ไม่ค่อยพูดถึงสเป็ก แต่จะบอกว่ามือถือทำอะไรได้บ้าง
และ Samsung เองก็ทำได้ดีโดยเฉพาะยุค Galaxy S2 ที่จัดเป็นยุครุ่งเรืองของค่าย จนได้สอยตัว Steve Kondik ที่โด่งดังจากการทำรอม CyanogenMod มาร่วมวงและความที่ Samsung เป็นบริษัทที่เก่งด้านสายการผลิต hardware แต่อ่อนด้อยและไม่เข้าใจเรื่อง software ( เคยมีข่าวออกมาว่าผู้บริหารไม่เข้าใจเรื่องของ software ) เมื่อได้มือดีอย่าง Steve Kondik ไปร่วมงานก็เลยทำให้ Galaxy S3 เริ่มมีลูกเล่นที่แพรวพราวมากขึ้น แต่แล้วเค้าก็ลาออกในช่วง Galaxy S4 แม้ว่าเจ้าตัวจะให้สัมภาษณ์ถึง Samsung ในทางที่ดี แต่ก็มีข่าวออกมา …ซึ่งบางกระแสก็บอกว่า “Samsung กำลังถอยหลังลงคลอง” เลยทำให้ Steve Kondik โบกมือลาจาก
Samsung เองก็เริ่มมีกำไรติดลบหลายไตรมาส และถึงยุคที่ตกต่ำที่สุดคือ Galaxy S5 ซึ่งย่ำแย่ขนาดที่ว่าเกิดการไล่ผู้บริหารออก และผู้บริหารชุดใหม่เริ่มเข้ามาทำงานแทน …นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง Samsung
3 สิ่งที่เปลี่ยนไปตั้งแต่ยุค Galaxy S6 เป็นต้นมาก็คือ
- พูดถึงสเป็กน้อยลง และพูดถึงการใช้งานจริงมากขึ้น
- ไม่ได้วางตัวเป็นผู้นำนวัตกรรมอีกแล้ว
- เน้นสร้าง ecosystem มากขึ้น
ซึ่ง 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ Apple ทำมานานแล้ว แต่เพราะมันคือจุดแข็งของ Apple ทำให้คู่แข่งทุกรายรวมถึง Samsung เลือกที่จะเจาะด้านอื่นด้วย “สงครามตัวเลข” เน้นโม้สเป็ก ตัวเลขเยอะๆ …เน้นฟีเจอร์เยอะๆ แต่ความเยอะมันก็ตามมาด้วยปัญหา เช่น bug หรืออัพเดทได้ยาก …สุดท้าย Samsung ก็เลยจำเป็นต้องเดินตามแนวคิดของ Apple เพราะ Apple พิสูจน์แล้วว่าวิธีนี้นำไปสู่ความสำเร็จได้
“ไม่ใช่ Samsung อยากเดินตามแนวคิด Apple แต่เพราะลองวิธีอื่นแล้วยังเอาชนะ Apple ไม่ได้”
ความยากของ Samsung ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมาคือ “การตลาดแบบทำร้ายตัวเอง” เพราะในอดีตต้องการเอาชนะ Apple เลยออกตัวแรงในหลายๆ ด้านซึ่งขัดกับสิ่งที่ทำในยุคหลัง เช่น
- เคยเล่นสงครามตัวเลข แต่ตอนนี้กล้องลดมาเหลือ 12 ล้าน ซึ่งดีกว่าเดิม แต่คนบางส่วนก็บ่น
- เน้นโม้ฟีเจอร์ แต่ก็ต้องทำให้มันเรียบง่ายเพื่อให้ปัญหาน้อยลง และสาวกก็บ่น
- เคยชูจุดเด่นเรื่อง microSD แต่พอทำสินค้ามีคุณภาพอย่าง Galaxy S6 ก็โดนสาวกบ่น
- เคยชูว่า Tablet ต้องหน้าจอ 16:9 ที่ดีกว่า iPad แต่แล้วก็ใช้ 4:3 ตาม iPad
มีหลายสิ่งที่ Apple ยังเป็นผู้นำ ซึ่งถ้าให้เล่าในบทความนี้คงไม่หมด แต่สิ่งที่เห็นได้ก็คือ Apple ไม่ใช่บริษัทที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยตลอดเวลา แต่เค้าจะนำเสนอของในเวลาที่เหมาะสม และ Apple อาศัยการสร้าง ecosystem ให้สาวกรู้สึกว่าอยากซื้อสินค้าของ Apple เพิ่มอีก เพื่อให้มันเชื่อมโยงกัน …และนี่คือสิ่งที่ Samsung กำลังทำ
ถ้าเทียบเรื่องสเป็กแล้ว Galaxy S7 ไม่ได้มีอะไรที่ว๊าวเท่า LG G5 ที่เปิดตัวในวันเดียวกัน แถมยังใช้เทคโนโลยีที่โบราณกว่า USB-C อย่าง microUSB แต่ Galaxy S7 คือการเติมเต็มจุดบกพร่องของ Galaxy S6 …ในลักษณะเดียวกับ iPhone 6s ที่ออกมาอุดรอยรั่วของ iPhone 6
และสิ่งที่ Samsung กำลังทำตอนนี้คือการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Apple ด้วยการสร้าง ecosystem ในแบบฉบับของ Samsung …เนื่องจาก Samsung ยังต้องพึ่งพา android ที่สร้างโดย Google จึงทำให้ Samsung ไม่สามารถสร้าง ecosystem ในแง่ของ software ได้ เลยต้องผลักให้ออกมาในรูปแบบของ gadget และ smart home
โดยเริ่มด้วย Gear VR ที่ราคาถูกกว่าคู่แข่งด้วยราคาโปรโมชั่น 2,500 บาท แม้ว่าคุณภาพและการเชื่อมต่อจะสู้ LG VR ไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ Samsung สนใจ เพราะตอนนี้ Samsung ต้องการให้คนก้าวเข้าสู่ระบบ ecosystem เลยทำ Gear VR ให้ราคาถูก โดยหวังให้เข้าถึงผู้คนระดับ mass ให้มากที่สุด …และปัญหาของ VR คือ content ที่ยังไม่ดึงดูดมากพอ เลยเกิดการจับมือกับ facebook
ด้านฝั่งของ facebook เองก็ต้องการเป็นมหาอำนาจด้าน VDO platform แข่งกับ YouTube ซึ่งจะเห็นว่าช่วงหลังก็เริ่มทำระบบ live และ 360 ออกมา ดังนั้นเมื่อ facebook จับมือกับ Samsung ก็จะเกิด VR Community ซึ่งไม่ใช่แค่ content แต่มันเป็นเรื่องของสังคมเสมือนจริง …นี่จึงเป็น platform และ ecosystem ที่น่าจับตามองมากๆ
และเมื่อ Samsung ดึงฐานผู้ใช้เข้ามาติดในระบบของตัวเอง ก็สามารถผลักดันสินค้าชิ้นอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงได้ ในลักษณะเดียวกับที่ Apple ผลิตอะไรออกมาคนก็ซื้อ …และวันนั้นสาวก Samsung ก็จะเข้าใจว่าทำไมสาวก Apple ถึงยินดีจ่ายเงินให้กับสินค้าที่สเป็กไม่ได้สูง …ยอมต่อแถวเพื่อจะได้ใช้เป็นคนแรกๆ …ก็เพราะว่า ecosystem ของ Apple ไงครับ
การเปลี่ยนแนวคิดของ Samsung มันเริ่มส่งผลกับ Galaxy S7 ถึงขั้นที่คนมีชื่อเสียงในบ้านเราได้บอกไว้ว่า “Samsung ได้เดินมาถึงจุดสูงสุดแล้ว นักข่าวพากันอดหลับอดนอนทำข่าวให้ แม้ไม่ได้ค่าจ้าง” …ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ Apple ทำได้นานแล้ว
หลังจากนี้มันจะไม่ใช่แค่การแข่งขันเรื่องของสเป็กหรือตัวมือถือ แต่จะเป็นการแข่งขันในเรื่องของ ecosystem ต่างหาก
“หมดยุคของสงครามตัวเลข เพราะตอนนี้คือสงคราม ecosystem”