เชื่อว่าทุกวันนี้ใครหลายคนคงคุ้นชินกันแล้วกับการใช้ VPN ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเพื่อเข้าเว็บที่ถูกบล็อก เพื่อให้เล่นเกมออนไลน์ หรือใช้เพื่อการเข้าถึงข้อมูลในบริษัท
การทำงานของ VPN นั้น จะเป็นเหมือนกับการสร้างเครือข่าย LAN จำลองขึ้นมาบนอินเตอร์เน็ต ใครก็ตามที่ต่อเข้ามาใน VPN เดียวกัน จะเหมือนเล่นอยู่บนเครือข่าย LAN เดียวกัน อีกทั้ง VPN มีการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งกันระหว่างเครื่องในเครือข่าย ทำให้ข้อมูลที่ส่งกันผ่าน VPN นั้นถือได้ว่าปลอดภัยจากการถูกสอดแนมด้วยในระดับหนึ่ง อีกทั้งการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่าน VPN เว็บปลายทางก็จะไม่ทราบ IP Address ของเราอีกด้วย หากแต่จะทราบเพียงแค่ IP Address ของเซิร์ฟเวอร์ VPN เท่านั้น
ปัญหาคือในบางประเทศที่อ่อนไหวต่อข้อมูลที่ส่งไปมาบนอินเตอร์เน็ต อย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates – UAE) ที่รัฐบาลมีประสงค์ที่จะสามารถตรวจตราการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชนได้ตลอดเวลา ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่าน VPN นี้เป็นเรื่องที่ขัดกับจุดประสงค์ของรัฐบาลไปโดยปริยาย
ดังนั้นแล้วล่าสุด นาย Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ผ่านกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการต่อสู้กับอาชกรรมไซเบอร์ ระบุว่าการใช้บริการใดๆ ที่เป็นการปกปิด IP Address (ซึ่งรวมไปทั้ง VPN, Proxy, Tor, และเครือข่ายซ่อนนามแบบอื่นๆ) เพื่อทำการอาชญากรรม หรือหลบการตรวจจับใดๆ มีโทษทั้งจำและปรับ ตั้งแต่ 500,000 เดอร์แฮม จนถึง 2,000,000 เดอร์แฮม หรือราวๆ 4,700,000 จนถึง 19,000,000 บาท ซึ่งกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้กับทุกรัฐในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ก่อนหน้านี้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เคยแบนการใช้งานการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ VoIP มาก่อนแล้ว ซึ่งฟีเจอร์ด้าน VoIP นี้ล้วนมีอยู่ในแอพสื่อสารชื่อดังเกือบทุกตัว เช่น Facebook Messenger, WhatsApp, หรือ Viber ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ที่ต้องการใช้ VoIP จะต้องเชื่อมต่อ VPN เพื่อหลบการบล็อคก่อนที่จะใช้งานได้นั่นเอง
ความเห็นของเรา
VPN จัดได้ว่าเป็นเทคโลโลยีที่มีประโยชน์มากๆ เทคโนโลยีหนึ่งครับ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล (เพราะ VPN มีการเข้ารหัสข้อมูล) หากแต่ในบางครั้งกลับมีการนำ VPN หรือเครือข่ายซ่อนนามอื่นๆ ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่นการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศต่างเป็นกังวลในเรื่องนี้
ซึ่งเหตุนี้เองทำให้คำตอบของปัญหานี้กลายเป็นพื้นที่สีเทาที่ไม่สามารถลงคำตอบที่แน่นอนลงไปได้เลยว่ามันควรเป็นอย่างไร
ผมเองก็หวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใดๆ ที่ใช้ตรวจตราอินเตอร์เน็ต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน “อย่างแท้จริง” โดยที่ไม่เข้าไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ถือกำเนิดขึ้นมาให้เราได้ใช้งานกันบ้างครับ
ที่มา – The Hacker News