ไม่มีอะไรน่าอ่อนเพลียละเหี่ยใจเท่ากับการเห็นบิลค่าไฟฟ้า ที่ไม่ว่าเราจะพยายามประหยัดยังไง มันก็แทบจะไม่เคยลดลงเลย นี่แค่ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรายังจุกขนาดนี้ ลองจินตนาการถึงบิลค่าไฟฟ้าของสนามบินซักที่สิ ว่ามันจะมหาศาลขนาดไหน นั่นเป็นที่มาของปฏิบัติการ “ปลดแอกค่าไฟ” ของสนามบินแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอินเดีย
เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สนามบิน Cochin International Airport ของอินเดีย ได้มีการทดลองติดตั้ง Solar Panel บนหลังคา Terminal ก่อนจะลามไปที่ลาดจอดเครื่องบิน เมื่อเห็นว่าได้ผลดี จึงขยายเป็นโครงการใหญ่โต มีการใช้พื้นที่รกร้างข้าง ๆ สนามบินขนาด 45 เอเคอร์สร้างเป็นโซล่าฟาร์ม (Solar plant) ซึ่งเมื่อโซล่าฟาร์มแห่งนี้เริ่มเดินเครื่อง ก็ถึงเวลาที่นาย Jose Thomas ผู้จัดการทั่วไปของสนามบินจะประกาศว่า
“อีนี่ฉานขอประกาศ… นี่คือสนามบินแห่งแรกในโลก ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อย่างเต็มรูปแบบนะจ๊ะนายจ๋า…”
ด้วยแผง Solar panel นับหมื่นแผงที่ติดตั้ง สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 50,000 กิโลวัตต์ ซึ่ง “เหลือกินเหลือใช้” แม้ว่าสนามบิน Cochin แห่งนี้จะได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่พลุกพล่านมากเป็นอันดับ 7 ของอินเดียก็ตาม
ถ้าถามถึงเงินที่ลงทุนไป แม้ว่าจะใช้งบประมาณตีเป็นเงินไทยมากถึง 327 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้ตอบแทน นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าอีกต่อไปแล้ว ยังช่วยลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งเป็นมลพิษที่เกิดจากการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้มากถึง 300,000 ตัน ตลอดเวลา 25 ปีของการใช้พลังงานทางเลือกนี้ และทำให้สนามบิน Cochin แห่งนี้ กลายเป็นต้นแบบที่สนามบินแห่งอื่น ๆ ต้องมาขอดูงาน เพราะใคร ๆ ก็อยาก “ปลดแอก” จากบิลค่าไฟฟ้าทั้งนั้น
ความเห็นของทีมงาน
ทันทีที่เห็นข่าวนี้ เราขอฟันธงว่า ยุคทองของ “พลังงานทางเลือก” ได้มาถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (นึกว่าชั่วชีวิตนี้จะไม่ได้เห็นซะแล้ว ^^) ปัจจัยหลัก ๆ คงเป็นเพราะ “ต้นทุน” ของอุปกรณ์พลังงานทางเลือกที่ถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก ประกอบกับการมาถึงทางตันของพลังงานอื่น ๆ (เช่นถ่านหิน, น้ำมัน) ซึ่งยิ่งใช้ยิ่งหมดไป และยิ่งสร้างมลภาวะให้แก่โลกมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเองครับ
ที่มา – Money CNN