Facebook ออกมาอธิบายเรื่องแนวทางการเซ็นเซอร์ Live

ไม่นานมานี้ทาง Facebook ได้ออกฟีเจอร์สำหรับถ่ายทอดสดที่ชื่อว่า Facebook Live ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทอดสดสิ่งต่างๆ ได้ตลอดเวลาผ่านแอพ Facebook

การถ่ายทอดสดที่เป็นประเด็นตอนนี้คงหนีไม่พ้นกรณีที่นางสาว Diamond Reynolds ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่แฟนหนุ่มของเธอ นาย Philando Castile ถูกตำรวจวิสามัญโดยไม่มีความผิดอะไร  จนจุดกระแสความเท่าเทียมของคนผิวสีขึ้นในอเมริกาอยู่ ณ ตอนนี้

แต่การถ่ายทอดสดครั้งนี้ก็มีอีกเรื่องที่เป็นประเด็น  นั่นคืออยู่ๆ วิดีโอนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ซะงั้น  จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นต่อ Facebook อย่างหนัก  วันนี้ทาง Facebook จึงต้องออกมาอธิบายถึงการเซ็นเซอร์การถ่ายทอดสดครับ

Facebook กล่าวว่าวิดีโอถ่ายทอดสดนั้นจะยึดตามแนวทาง Community Standards เหมือนกับเนื้อหาอื่นๆ คือจะลบเฉพาะวิดีโอที่มีการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเท่านั้น  ส่วนกรณีของการถ่ายทอดของนางสาว Diamond Reynolds นั้นเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคของเฟซบุคเอง (ซึ่งทาง Facebook ไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ ไว้เกี่ยวกับสาเหตุความผิดพลาดดังกล่าว)

ทาง Facebook ยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกว่าอย่างเช่นถ้ามีเหตุฆาตกรรมเหตุหนึ่ง  ถ้ามีการใช้ Facebook Live เพื่อช่วยในการหาตัวคนร้าย Facebook จะไม่ลบวิดีโอนี้  แต่ถ้าเป็นการใช้ Facebook Live ในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมเหยื่อ  หรือสนับสนุนคนร้าย  วิดีโอนี้จะถูกลบแน่นอน

ซึ่งจากที่ TechCrunch ได้พูดคุยกับโฆษกของ Facebook ก็พอจะสรุปแนวทางการเซ็นเซอร์ออกมาได้ดังนี้ครับ

  • โดยปกติเนื้อหาประเภทลามกอนาจาร, ความรุนแรง, การส่งเสริมความเกลียดชัง  จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่บน Facebook ซึ่งรวมไปถึงทั้งภาพนิ่ง วิดีโอ และการถ่ายทอดสด
  • Facebook จะลบเนื้อหาที่เป็นการส่งเสริมความรุนแรง สนับสนุนผู้ร้าย หรือซ้ำเติมเหยื่อ  หากแต่จะอนุญาตเนื้อหาที่มีความรุนแรงเฉพาะเมื่อเป็นการดึงความสนใจมายังเหตุการณ์นั้นๆ เท่านั้น
  • หากมีการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยกับความรุนแรง  เนื้อหาจะถูกลบด้วย
  • ผู้ใช้มีสิทธิ์ในการรายงานเนื้อหาใดๆ ก็ตามบน Facebook รวมถึงการถ่ายทอดสดที่กำลังออกอากาศ  ซึ่งทุกการรายงานจะถูกตรวจสอบโดยทีมงานของ Facebook ซึ่งทีมงานมีสิทธิ์หยุดการออกอากาศสดในทันทีแม้จะกำลังออกอากาศอยู่ก็ตาม หากเนื้อหาขัดกับแนวทางของ Facebook
  • วิดีโอที่มีหน้าจอแจ้งเตือนเนื้อหาความรุนแรง  จะไม่ถูกเล่นโดยอัตโนมัติ  และจะถูกซ่อนต่อผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • หากทีมงาน Facebook เชื่อว่าเนื้อหาที่ผู้ใช้แชร์ลงมานั้นมีแนวโน้มจะเป็นการทำร้ายตัวเอง  หรือเป็นการข่มขู่ทำร้ายผู้อื่น  ทาง Facebook จะติดต่อกับตำรวจท้องถิ่น  รวมถึงขึ้นข้อความแนะนำให้ผู้รับชมติดต่อตำรวจด้วย

แนวทางดังกล่าวนี้อาจจะไม่ได้ถูกบังคับใช้ 100% ซึ่งทาง Facebook จะเน้นไปที่การจัดการกับความรุนแรงเสียมากกว่า (อย่างเช่นวิดีโอสนับสนุนการก่อการร้าย)

ความเห็นของเรา

Facebook Live เป็นฟีเจอร์ที่มอบอำนาจความเป็นสื่อให้กับผู้ใช้ได้อย่างมากที่สุดฟีเจอร์หนึ่งครับ  ตอนนี้ในต่างประเทศมีประเด็นกันว่าการถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่าน Facebook Live นั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่า รวมถึงได้รับความช่วยเหลือได้ดีกว่าโทรแจ้ง 911 เสียอีก (เหมือนอย่างในบ้านเราที่เอาเรื่องลงพันทิปแล้วได้รับการจัดการดีกว่าการโทรแจ้งหน่วยงานโดยตรง)

ดังนั้นแล้วถ้าเรานำ Facebook Live ไปใช้ในทางที่ถูก  มันจะช่วยในการนำเสนอปัญหาต่างๆ ออกมาสู่สาธารณะ  จุดประเด็นและสร้างแนวทางการแก้ปัญหาได้ดีทีเดียวเลยล่ะครับ

แต่ด้วยความง่ายในการถ่ายทอดสด  เราจึงต้องคิดอย่างถี่ถ้วนด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังจะนำเสนอนั้น  มันถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า  ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นการจุดกระแสลบ  และทำให้เรื่องราวบานปลายไปเสียก็เป็นได้

ที่มา – TechCrunch

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ