นักวิจัยฮาร์วาร์ดสร้างหุ่นยนต์จากเซลสิ่งมีชีวิตได้สำเร็จ

เมื่อไม่นานมานี้  ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีส่วนประกอบเป็นเซลของสิ่งมีชีวิตได้เป็นผลสำเร็จ (จริงๆ ก็ไม่เชิงหุ่นยนต์เสียทีเดียว  ออกแนวเป็นสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์เสียมากกว่า)

เจ้าหุ่นตัวนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไรมากมายครับ  ขนาดเพียงแค่ประมาณเหรียญสลึงเท่านั้น  โดยส่วนร่างกายของมันทำมาจากซิลิโคนใส มีลักษณะเป็นรูปร่างของปลากระเบน  และใช้เส้นใยทองคำสร้างเป็นส่วนเหมือนโครงกระดูก (หรือก้าง) จากนั้นก็พิมพ์เซลหัวใจหนูกว่าสองแสนเซลลงไปบนตัวในรูปทรงของงูเลื้อย

ซึ่งเซลหัวใจหนูนี้จะเป็นเซลที่ถูกดัดแปลงให้มัน “หดตัว” เมื่อสัมผัสกับแสง  ทำให้ส่วนครีบมันขยับเหมือนกับปลากระเบนจริงๆ และว่ายน้ำไปได้นั่นเอง  ลองไปดูในวิดีโอตัวอย่างนี้ครับ

สำหรับงานวิจัยนี้จะเป็นการเปิดทางไปสู่ความเข้าใจในเรื่องของเซลหัวใจ  ซึ่งอาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างหัวใจเทียมได้ในอนาคตครับ

ความเห็นจากเรา

ในปัจจุบันหากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ  ทางออก ณ ตอนนี้คือการปลูกถ่ายหัวใจ  ที่จำเป็นต้องรอคิวยาวเหยียด  กว่าจะเจอผู้บริจาคที่มีหัวใจที่เข้ากับร่างกายเราได้  ซ้ำแล้วผู้รับการปลูกถ่ายยังต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านหัวใจใหม่เสียอีก

ถ้าหากเราสามารถเข้าใจโครงสร้างและการทำงานของเซลหัวใจได้อย่างถ่องแท้  การสร้างหัวใจเทียมขึ้นมาโดยใช้เซลของผู้ป่วยเอง  จะช่วยลดปัญหาการรอคิวปลูกถ่าย  รวมถึงการต่อต้านจากร่างกายได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวครับ

ที่มา – Engadget, Science Magazine

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ