ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ได้ปล่อยยานสำรวจ Curiosity ไปยังดาวอังคาร (ถึงดาวอังคารในปี 2012) เพื่อสำรวจภูมิประเทศ สภาพอากาศ รวมทั้งหาร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งตัวยานเองยังคงทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ทาง NASA ได้วางแผนสำหรับยานสำรวจลำต่อไปที่มีแผนจะส่งไปดาวอังคารในปี 2020 ที่จะถึงนี้ครับ ซึ่งตอนนี้ NASA ได้ออกมาเผยภาพต้นแบบของยานลำดังกล่าวแล้วครับ อย่างไรก็ดียานลำนี้ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ และทาง NASA เรียกมันด้วยชื่อเล่นๆ ว่า Mars 2020
ยานลำใหม่นี้จะเป็นการปรับปรุงมาจากยาน Curiosity ลำเดิม โดยจะมีการเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์ชุดใหม่ที่เน้นไปที่เรื่องการ “หาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต” โดยเฉพาะอีกด้วย และที่สำคัญยานลำนี้ยังมี “ไมโครโฟน” ติดตั้งไปอีกด้วย ทำให้คราวนี้เราสามารถได้ยินเสียงบนดาวอังคารกันได้แล้วครับ! (อย่างไรก็ดี เสียงบนดาวอังคารน่าจะค่อนข้างเงียบ เนื่องจากชั้นบรรยากาศที่เบาบางกว่าโลก และไม่มีเสียงหมาเห่านกร้องอีกต่างหาก)
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบลงจอด Sky Crane ตัวเดิม โดยเพิ่มนำระบบ Range Trigger เข้ามาเพื่อช่วยให้ตัวยานสามารถลงจอดได้แม่นยำมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับจุดลงจอดของยานนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะลงจอดที่ตรงไหน แต่จะมีการเลือกเอาจากบริเวณที่มีโอกาสว่าจะเหมาะกับการดำรงชีวิต เช่นบริเวณแม่น้ำเก่า และอุณหูมิไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป
ความเห็นของเรา
ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณ์บางอย่างคล้ายกับโลก เช่นการเป็นดาวเคราะห์หินแข็ง มีเวลาต่อวันใกล้เคียงกัน รวมทั้งอยู่ในโซนที่เอื้อกับการมีสิ่งมีชีวิตอีกด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานมาจะมีวิ่งมีชีวิตใดๆ เกิดขึ้น หรือเคยเกิดขึ้น บนดาวอังคารหรือไม่? อีกทั้งยังมีการพูดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารอีกด้วยครับ
การส่งยานสำรวจเหล่านี้ไปยังดาวอังคารจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบข้อมูลของดาวอังคารได้มากขึ้น และถูกต้องยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดอะไรได้อีกหลายอย่าง เช่นการวางแผนสร้างอาณานิคม หรือศึกษาถึงการกำเนิดโลกในอดีตครับ
ที่มา – TechCrunch