ปกติแล้วภาพถ่ายเซลฟี่มักจะมีลักษณะที่บวมตรงกลาง เช่นจมูกโตขึ้น หน้าผากกว้างขึ้น และถูกบีบให้เล็กลงในส่วนขอบ เช่นโครงหน้าที่แคบลง และใบหูที่เล็กลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการใช้เลนส์มุมกว้าง (ทางยาวโฟกัสต่ำ) ในกล้องหน้าของโทรศัพท์นั่นเอง ซึ่งหากเทียบกับภาพที่ถูกถ่ายโดยกล้องถ่ายรูปที่ใช้เลนส์มุมแคบกว่า (ทางยาวโฟกัสสูง) โครงหน้าจะมีความสมส่วนมากกว่าภาพเซลฟี่ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายที่ระยะราว 50mm ที่ใกล้เคียงกับสายตาเรามากที่สุด
ปัญหาคือกล้องโทรศัพท์มือถือนั่นไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ ดังนั้นแล้วการถ่ายเซลฟี่เพื่อให้ได้ภาพออกมามีเค้าโครงหน้าเหมือนจริงที่สุด ดูจะเป็นเรื่องที่ลำบากไม่ใช่น้อย ซึ่งถ้าจะใช้แอพแต่งรูปทั่วไปในตอนนี้ อาจจะได้โครงหน้าที่ผิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปมากกว่าเดิมเสียอีก (ดูเป็นคนละคนไปเลย)
ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการภาพเซลฟี่ที่ได้โครงหน้าเหมือนจริงมากที่สุด ตอนนี้มีข่าวดีแล้วครับ เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรินสตันได้นำเสนอโปรแกรมต้นแบบที่ใช้สำหรับแก้ไขโครงหน้าในภาพถ่าย ให้ออกมาเหมือนกับการถ่ายจากอีกทางยาวโฟกัสหนึ่ง (เช่นภาพถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 18mm สามารถแก้ให้ดูเหมือนถ่ายที่ทางยาวโฟกัส 50mm ได้) นอกจากนี้โปรแกรมยังใช้ปรับการก้มเงย รวมถึงบิดซ้ายบิดขวาได้อีกด้วย
โดยการทำงานของโปรแกรมนั้นจะเป็นการวิเคราะห์โครงหน้าในภาพออกมาเป็นโมเดลสามมิติ โดยผู้ใช้จะต้องทำการระบุจุดสำคัญสามจุด คือปลายหูซ้าย ปลายหูขวา และส่วนบนของหน้าผาก จากนั้นโปรแกรมจะวิเคราะห์ภาพออกมาเป็นโมเดลสามมิติ และให้ผู้ใช้สามารถปรับค่าทางยาวโฟกัส มุมก้มเงย หรือหันซ้ายขวาได้ต่อไป ซึ่งวิธีที่นักวิจัยใช้นี้ ยังสามารถนำไปใช้สำหรับสร้างภาพสามมิติสำหรับทั้งภาพนิ่งและวิดีโอได้อีกด้วย
หากใครสนใจอยากลองเล่น สามารถกดเข้าไปลองได้ในลิงค์นี้ครับ
ความเห็นของเรา
ใครที่ถ่ายภาพบ่อยๆ อาจจะเจอปัญหาคล้ายๆ กันแบบนี้ คือถ่ายมาภาพดูดีทุกอย่าง หากแต่เหลือจุดตะขิดตะขวงใจอยู่เล็กน้อย เช่นหันซ็ายมากไป ก้มหน้ามากไป ฯลฯ ซึ่งเมื่อถ่ายใหม่ภาพก็ยิ่งเละไปกว่าเดิม ไม่ได้อย่างที่ต้องการเสียที สุดท้ายแล้วก็ต้องเอาไปนั่งแก้ไขในโปรแกรมแต่งภาพกันต่อไป ซึ่งทุกวันนี้เราจำเป็นต้องมานั่งปรับแก้ทีละส่วนเอง ซึ่งหลายครั้งมักให้ผลออกมาเป็นภาพดูแปลกไปกว่าเดิมเสียอย่างนั้น
เทคนิคการแก้ไขภาพที่นักวิจัยได้นำเสนอมาในข่าวนี้ จะช่วยให้ช่างภาพ (หรือใครก็ตาม) สามารถแก้ไขภาพได้สะดวกขึ้น ถูกต้องมากขึ้น และใช้เวลาน้อยลงครับ
แม้ในตอนนี้เทคนิคนี้จะยังไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง 100% ได้ แต่นักวิจัย (ซึ่งได้นักวิจัยจาก Adobe มาร่วมด้วยอีกแรง) กำลังช่วยกันปรับปรุงให้โปรแกรมสามารถทำงานได้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงจุดที่น่าพอใจแล้ว คาดว่าคงมีการออกโปรแกรมมาให้ใช้กันอย่างแน่นอนครับ (โดยเฉพาะในโปรแกรมอย่าง Photoshop หรือ Lightroom)
ที่มา – Gizmodo