ล้ำหน้าไปอีกขั้น กับการบันทึกมิวสิควิดีโอลงใน DNA!

ย้อนกลับไปสักยี่สิบสามสิบปีก่อน  สื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ล้วนมีขนาดใหญ่เทอะทะและบรรจุข้อมูลได้เพียงเสี้ยวหนึ่งของเทคโนโลยีปัจจุบันเท่านั้นเอง  ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันที่เราว่าเล็กเยอะจุได้เยอะแล้ว  ก็ยังคงพัฒนาให้มันเล็กและจุได้มากขึ้นได้อีก  โดยปัจจุบันนั้นนักวิทยาศาสตร์กำลังหันไปมองที่ “การบันทึกข้อมูลลง DNA” กันแล้วครับ!

ตามทฤษฎีแล้วเราสามารถจุข้อมูลได้มากถึงหลัก Exabyte หรือราวๆ 1,000,000 TB ลงในก้อน DNA ที่มีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายเม็ดหนึ่งเท่านั้น  แต่ว่าวิทยาการปัจจุบันสามารถบันทึกลงไปได้สูงสุดแค่ราวๆ … 22MB เท่านั้นเอง …

แต่ด้วยงานวิจัยล่าสุดจากโครงการ Palix อันมาจากความร่วมมือของไมโครซอฟท์, ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน, และความช่วยจากบริษัทสตาร์ทอัพนาม Twist Bioscience ก็สามารถทำลายสถิติ 22MB นี้ลงไปได้อย่างราบคาบ  ด้วยการบันทึกข้อมูลที่มีความจุกว่า 200MB ลงใน DNA ได้เป็นผลสำเร็จ

ในขั้นตอนการเขียนข้อมูลลง DNA นั้น  นักวิทยาศาสตร์จะต้องแปลข้อมูลที่ต้องการไปเป็นโมเลกุลนิวคลีโอไทด์  และกำกับคู่เบสแทนที่ข้อมูล 0 และ 1 ตามข้อมูลไบนารี่ของไฟล์ (โมเลกุลนิวคลีโอไทด์  เป็นโมเลกุลพื้นฐานที่ใช้สร้างบล็อค DNA) ซึ่งในงานวิจัยนี้  ทีมวิจัยเลือกที่จะบันทึกข้อมูลของมิวสิควิดีโอ เพลง This Too Shall Pass ความละเอียด HD ของวง OK Go, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่แปลเป็นภาษาต่างๆ กว่าร้อยภาษา, หนังสือยอดนิยม 100 อันดับแรกบนโครงการ Gutenberg, และฐานข้อมูลเมล็ดพืช Crop Trust สิริรวมแล้วขนาด 202MB ลงไปบนสาย DNA ทำลายสถิติเดิมไปราวๆ 20 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับการอ่านข้อมูลกลับมานั้นก็จะใช้วิธีการหาคู่ลำดับ DNA ปกติ  เหมือนอย่างที่ใช้ในการหาคู่ลำดับ DNA ในพืชหรือสัตว์  ก่อนจะนำข้อมูลที่อ่านได้นั้นมาแปลงเป็นไบนารี่อีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อมูลลง DNA ยังคงห่างไกลจากการใช้งานทั่วไปอยู่มาก  เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการอ่านและเขียนข้อมูลที่สูง, สามารถอ่านและเขียนข้อมูลได้ช้า, รวมถึงความลำบากในการแก้ไขข้อมูลที่เขียนไปแล้วด้วย  แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการอ่านเขียนข้อมูลลงไปได้อีก  และยังกล่าวเสริมอีกว่านอกจากจะใช้ในการบันทึกข้อมูลที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยแล้ว  ยังมีโอกาสสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้อีกต่างหาก

ความเห็นของเรา

ในทางทฤษฎีแล้ว  การบันทึกข้อมูลลง DNA นั้นมีความตั้งใจจะใช้กับการบันทึกข้อมูลสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยนัก  เช่นวิทยาการทางการแพทย์, หนังสือในห้องสมุดสภาคองเกรส, รวมไปถึงเพลงและภาพยนตร์  ที่ปัจจุบันนั้นบันทึกลงบนสื่ออย่างแผ่น CD หรือ DVD ที่มีโอกาสเสียหายได้ในอนาคต  แต่กับ DNA นั้นสามารถเก็บข้อมูลได้ยาวนานนับพันนับหมื่นปีเลยทีเดียว  อีกทั้งยังใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการเก็บรักษา (นักวิจัยคาดว่าสามารถเก็บข้อมูลจากบนอินเตอร์เน็ตทั้งหมด  ลงในพื้นที่เล็กๆ ขนาดเท่ากล่องรองเท้าเท่านั้น)

ซึ่งการเก็บข้อมูลได้มากและใช้พื้นที่น้อยอย่างนี้ ในอนาคตเราอาจจะสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดในประวัติศาสตร์  ทั้งความรู้  รูปภาพ  ข่าว  วิดีโอ  ได้ยาวนานนับร้อยนับพันปีไปเลยก็ได้นะครับ (ปัจจุบันหาข่าวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วยังลำบากเลย) คนรุ่นหลาน เหลน โหลน ของเราจะสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่างๆ ของยุคเราได้ผ่านสื่อที่มาจากยุคเราจริงๆ รับทราบข้อมูลจากยุคเราจริงๆ ไม่ใช่การนำข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประติดประต่อและมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูงอย่างในปัจจุบัน  น่าจะดีไม่น้อยเลยครับ

ที่มา – The Verge, Business Insider

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ