Facebook เตรียมปรับ Newsfeed ใหม่ เพื่อลดโพสต์จากเว็บ Clickbait

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา  เว็บไซต์แนว Clickbait หรือประเภทที่มักล่อให้กดลิงค์เข้าไปดูนั้นโผล่ขึ้นมาเป็นเป็นดอกเห็ด  โดยลักษณะของเว็บพวกนี้จะมีการพาดหัวข่าวให้น่าสนใจ  แต่เมื่อกดเข้าไปดูแล้วเนื้อหาจริงๆ มีอยู่แค่ประโยคเดียวเป็นต้น  ยกตัวอย่างเช่นพาดหัวว่า “ตะลึง! เมื่อชายคนนี้ทำแบบนี้กลางถนน!?” เมื่อกดเข้าไปแล้วพบว่าเป็นแค่ภาพชายคนหนึ่งพาคุณยายข้ามถนนเท่านั้น

โดยปกตินั้นเว็บแนว Clickbait มักจะสร้างขึ้นมาเพื่อล่อให้คนคลิกเข้าไปเพื่อให้ผู้ใช้รับชมโฆษณาเท่านั้น  ในขณะที่เนื้อหาบนเว็บไซต์มักเป็นเนื้อหาคุณภาพต่ำ  ซึ่งหลายครั้งก็สร้างความหงุดหงิดให้ผู้ใช้ไม่น้อย (เช่นจะให้เปิดเข้ามาทำไม  เปลืองสามจี) ซึ่ง Facebook ก็เล็งเห็นปัญหานี้และพยายามออกมาตรการมาแก้ไขครับ

วิธีที่ Facebook เลือกใช้นั้นจะคล้ายกับระบบกรองสแปมครับ  ซึ่งระบบจะตรวจสอบข้อความว่ามันเข้าข่ายเป็น Clickbait หรือไม่  โดยจะมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ

  1. หัวข้อเนื้อหากั๊กใจความสำคัญไว้ (เช่น “แทบไม่เชื่อสายตา! เมื่อชายคนนี้หกล้มบนพรมแดง!”)
  2. หัวข้อเนื้อหาทำให้เข้าใจผิด หรือตื่นตูมเนื้อหาเกินไป (เช่น “ตะลึง! แอปเปิลไม่ดีต่อสุขภาพ!” และคลิกไปพบว่าต้องกินแอปเปิลวันละสามกิโล)

ผลที่ตามมาคือเพจใดที่โพสต์เนื้อหาด้วยหัวข้อที่เข้าข่ายแบบนี้บ่อยๆ  จะทำให้ผู้ใช้เห็นโพสต์จากเพจนั้นน้อยลง  ซึ่งทาง Facebook แนะนำว่าถ้าไม่ต้องการได้รับผลกระทบจากการปรับ Newsfeed ครั้งนี้  ก็ให้เลิกโพสต์เนื้อหาที่ใช้หัวข้อแบบ Clickbait ครับ

ความเห็นของเรา

Clickbait เป็นอะไรที่น่ารำคาญและน่าหัวเสียมากครับ  หลายครั้งที่เปิดลิงค์พวกนี้เข้าไปแล้วพบใจความสำคัญอยู่แค่ประโยคเดียว  และเนื้อหาเต็มไปด้วยภาพอะไรก็ไม่รู้ (ซึ่งหลายทีก็เป็นการเอาภาพจากอินสตาแกรมดาราหลายๆ ภาพมาโพสต์ทิ้งไว้เฉยๆ) ซึ่งความรู้สึกตอนนั้นมันรู้สึกว่าเปลืองทั้งเวลาและสามจีเลย ฮ่าๆ

อย่างไรก็ดี  ทาง Facebook ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยครับ  ก่อนหน้านี้ Facebook ก็พยายามสู้กับ Clickbait โดยอาศัยการคาดเดาคุณภาพเนื้อหามาก่อนแล้ว  โดย Facebook จะวัดว่าเมื่อผู้ใช้เปิดลิงค์ออกไปนานเท่าไหร่  ก่อนจะกลับมายัง Facebook อีกครั้ง  ซึ่งถ้าใช้เวลาเพียงเล็กน้อย  ก็พอจะอนุมานได้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอะไร  และมีคุณภาพต่ำ  ก็จะลดคะแนนเพจที่โพสต์เนื้อหานั้นบ่อยๆ ลงไป

สำหรับแนวทางใหม่นี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าจะลด Clickbait เหล่านี้ได้แค่ไหน

ที่มา – Mashable

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ