โดยปกติแล้วนั้นการถ่ายภาพที่มีส่วนต่างของส่วนมืดและสว่างมากๆ อยู่ในภาพ มักจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนนัก หากไม่มีส่วนใดมืดเกินไป ก็มักจะมีส่วนที่สว่างเกินไปอยู่เสมอๆ
ยิ่งกับสิ่งที่สว่างจ้ามากๆ อย่างไอพ่นจรวดขับดันแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะเก็บรายละเอียดไอพ่นนั้นโดยที่รายละเอียดส่วนอื่นยังชัดเจนอยู่ได้ ดังนั้นเราเลยมักเห็นภาพจรวดกับไอพ่นสว่างจ้าที่มองแทบไม่รายละเอียดอะไรเลยแบบนี้
ซึ่งหากใครที่สงสัยว่าในไอพ่นที่จรวดปล่อยออกมานั้น หน้าตาที่แท้จริงของมันนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้เราสามารถดูได้แล้วด้วยกล้องตัวใหม่ของ NASA ครับ!
กล้องตัวใหม่ของนาซ่าตัวนี้มาจากโครงการ High Dynamic Range Stereo X (HiDyRS-X) ครับ การทำงานของมันคือจะถ่ายภาพวิดีโอแบบสโลว์โมชันในแต่ละช่วงแสงพร้อมกัน (กล้องปกติทั่วไป จะเก็บได้ทีละหนึ่งช่วงแสงเท่านั้น) จากนั้นจึงนำมารวมกันเป็นวิดีโอคุณภาพสูงอีกทีหนึ่ง
นาซ่าได้ใช้กล้องตัวใหม่นี้ถ่ายไอพ่นในการทดลองจรวด QM-2 ครับ ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก สามารถเก็บรายละเอียดทุกส่วนให้สว่างพอดีได้อย่างสวยงาม แถมยังสามารถเก็บรายละเอียดในไอพ่นได้ด้วยอีกต่างหาก ลองไปชมวิดีโอกันได้ครับ
ทั้งนี้กล้องตัวนี้ยังเป็นเพียงแค่ตัวทดลองตัวแรกเท่านั้นครับ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของน่าซ่าก็กำลังปรับปรุงเพิ่มความสามารถให้กล้องตัวนี้อยู่เช่นกัน คนดูอย่างเราก็เตรียมรอดูภาพเจ๋งๆ ในอนาคตจากนาซ่าได้เลยครับ!
ความเห็นของเรา
หากใครที่เคยได้จับกล้องถ่ายภาพมาบ้าง มักจะพบปัญหาอย่างหนึ่งคือเมื่อเราถ่ายภาพบริเวณที่มีความต่างของแสงมากๆ มันมักจะมีส่วนที่มืดไปหรือสว่างไปอยู่เสมอ เช่นการถ่ายภาพออกนอกหน้าต่าง ที่จะเห็นทิวทัศน์นอกหน้าต่างชัดเจน แต่ส่วนที่อยู่ในห้องเข้ามานั้นกลับมืดจนมองไม่เห็นรายละเอียด ต่างจากที่ตาเราเห็นจริงๆ
นั่นเป็นเหตุมาจากเรื่องของ Dynamic Range หรือความสามารถในการเก็บข้อมูลในส่วนสว่างสุดไปจนถึงส่วนที่มืดสุดในภาพ ของเซ็นเซอร์กล้องถ่ายรูปนั้น ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้มากเท่าสายตาเรา
แม้ตอนนี้เราจะมีเทคนิค HDR หรือ High Dynamic Range ในการใช้เก็บภาพที่มีช่วงแสงที่ต่างกันมากๆ ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเก็บภาพในหลายช่วงแสงพร้อมกันได้ ทำให้การนำภาพมาประกอบกันที่หลังอาจจะทำให้ภาพเกิดอาการเหลื่อม และให้รายละเอียดไม่คมชัดได้นั่นเองครับ ซึ่งเจ้ากล้องใหม่ของของนาซ่าตัวนี้สามารถเก็บหลายช่วงแสงได้พร้อมกัน จึงช่วยแก้ปัญหาภาพเหลื่อมและความคมชัดได้นั่นเอง
ที่มา – Gizmodo