ให้คุณลองนึกว่าคุณมีภาพพุ่มไม้สวยๆ อยู่สักภาพหนึ่ง แล้วคุณสามารถเขย่าพุ่มไม้ในภาพนั้นเล่นได้ ฟังดู Harry Potter มากเลยใช่ไหมล่ะ?
นั่นล่ะครับ ด้วยเทคโนโลยีจากงานวิจัยล่าสุดจาก MIT จะช่วยให้คุณสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในภาพถ่ายได้อย่างที่บอกไปขั้นต้นนั่นเลย โดยเจ้าเทคโนโลยีตัวนี้จะใช้ “แรงสั่นสะเทือน” เข้ามาช่วยครับ โดยเค้าถ่ายวิดีโอสั้นๆ และตรวจจับการสั่นสะเทือนของวัตถุในวิดีโอนั้น จากนั้นก็นำข้อมูลการสั่นสะเทือนในแต่ละจุดมาคำนวนหาว่าหากมีปฏิสัมพันธ์ในจุดนั้นๆ มันจะให้ผลออกมาเป็นอย่างไร
ซึ่งโดยปกติแล้วอะไรที่มันสั่นสะเทือนได้ยิ่งมาก เท่ากับเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมันได้มากขึ้นเท่านั้นครับ ยกตัวอย่างเช่นเจ้าหุ่นโครงลวดข้างบนนี้ ที่เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือน บริเวณแขนจะสั่นได้มากกว่าบริเวณขา นั่นหมายถึงเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับบริเวณแขนของมันได้นั่นเอง
ซึ่งเมื่อเอาข้อมูลการสั่นสะเทือนมาคำนวนแล้ว ก็จะสามารถทราบได้ว่าหากมีปฏิสัมพันธ์กับจุดต่างๆ แล้ว จะให้ผลออกมาอย่างไร ตัวอย่างเช่นการขยับแขนหุ่นในนี้
ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่งานวิศวกรรม งานภาพยนตร์ หรือแม้แต่โปรแกรมพวก AR/VR ทั้งหลายครับ
ความเห็นจากเรา
ทุกวันนี้โปรแกรมแนว AR/VR ต่างๆ แม้เราจะสามารถคำนวนหาระยะในภาพ จนสามารถสร้างออกมาเป็นสภาพแวดล้อมแบบสามมิติได้ แต่เราก็ยังไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุในภาพได้อยู่เช่นเคย ซึ่งงานวิจัยนี้จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ครับ และมันจะสามารถสร้างลูกเล่นสวยๆ ให้โปรแกรมได้เลยทีเดียว
ในอีกภาคอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากมันคือภาพยนตร์ครับ โดยปกติฉากที่ใช้ CG เยอะๆ เช่นไดโนเสาร์วิ่งผ่านต้นไม้ หากเราจะให้เห็นใบไม้ไหว เราต้องถ่ายในป่าโล่งๆ จากนั้นใส่ CG ไดโนเสาร์ และค่อยใส่ CG ของต้นไม้ที่ไดโนเสาร์วิ่งผ่านอีกที ซึ่งด้วยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้สามารถถ่ายทำในป่าปกติ และใส่ CG ไดโนเสาร์ลงมาได้เลย และต้นไม้ใบหญ้าที่ถ่ายมาก็จะขยับตามแรงชนของไดโนเสาร์ได้เองครับ (ไม่แน่อาจจะเห็น CG ช่องมากสีเนียนขึ้นก็ได้นะเออ)
ที่มา – The Next Web