กูเกิลมีโครงการกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตด้วยบอลลูนที่ชื่อว่า Project Loon อยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ Project Loon จะมีอัลกอริธึมในการคำนวนทดตำแหน่งให้บอลลูนลอยตัวอยู่ในตำแหน่งเดิมตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี การใช้อัลกอริธึมตายตัวนั้นจะไม่ได้ผลเมื่อบอลลูนต้องเจอกับสภาพอากาศหรือลมแปรปรวน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป้นปกติที่ความสูงระดับหมื่นฟีต
ล่าสุดทางทีมงาน Project Loon ได้ออกมาเผยว่าที่ผ่านมานี้ได้เปลี่ยนจากการใช้อัลกอริธึมตายตัวในการทดตำแหน่งบอลลูน มาใช้ AI และ Machine Learning ในการทดตำแหน่งบอลลูนแทน ซึ่งจากการทดลองกับ Project Loon ในประเทศเปรู บอลลูนสามารถลอยอยู่กับที่ได้นานถึง 98 วัน แม้จะเจอสภาพอากาศแปรปรวนในชั้นสตราโตสเฟียร์ก็ตาม
AI ที่ใช้นั้นจะทำการอ่านและเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ป้อนเข้ามา และหาทางปรับตำแหน่งของบอลลูนเพื่อให้ลอยอยู่กับที่ หรือแม้แต่ให้ลอยตัวอยู่ได้นานที่สุด โดยตลอด 14 อาทิตย์ที่มีการทดสอบ AI ได้ปรับทดตำแหน่งการลอยตัวของบอลลูนไปกว่า 20,000 ครั้ง และบางครั้งที่ AI ตัดสินใจว่าบริเวณนั้นมีลมไม่มากพอที่จะลอยตัวอยู่ได้ AI ก็จะเคลื่อนบอลลูนไปยังตำแหน่งอื่นที่มีลมมากพอเป็นการชั่วคราวได้อีกด้วย
ที่มา – Engadget
ความเห็นของเรา
การใช้ AI เข้ามาช่วยในการทดตำแหน่งบอลลูน นอกจากจะช่วยให้บอลลูนสามารถลอยตัวอยู่ได้นานขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรื่องการกระจายตำแหน่งบอลลูนเพื่อให้สามารถยิงสัญญาณได้ครอบคลุมมากขึ้นอีกด้วยครับ ดังนั้นแล้วจึงเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กูเกิล โดยแทนที่จะต้องลงทุนกับจำนวนบอลลูนที่มากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม ก็ให้ AI ปรับปรุงตำแหน่งให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นได้ด้วยนั่นเอง