เทคโนโลยีการทำแขนเทียมในทุกวันนี้เรียกได้ว่าพัฒนาไปมาก เราสามารถสร้างแขนเทียมที่สามารถเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับแขนจริง รวมทั้งมีการสั่นเตือนต่อปฏิกิริยาต่างๆ ได้
แต่ทั้งนี้การทำให้ผู้ป่วยสามารถรับความรู้สึกจากแขนเทียมได้อย่างแขนจริง ยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก ซึ่งข้อจำกัดนี้เองทำให้ผู้ป่วยจะที่แม้จะรับรู้ได้ว่าแขนเทียมนั้นจับหรือสัมผัสอะไรบางอย่างอยู่ แต่จะไม่สามารถแยกได้เลยว่าสิ่งที่จับหรือสัมผัสอยู่นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร (ให้นึกถึงเวลาเล่นเกมแล้วจอยสั่นที่ไม่ว่าจะรถชน โดนยิง หรือตกตึก จะรู้แค่จอยสั่นอย่างเดียว)
ล่าสุดนักวิจัยจาก University of Pittsburgh และ UPMC ได้เผยผลงานการวิจัยใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้จากแขนเทียมที่ควมคุมโดยสมองของเขาเอง
วิธีที่นักวิจัยกลุ่มนี้ใช้คือจะทำการสแกนสมองของผู้ป่วยเพื่อหาจุดที่ใช้ประมวลผลการรับรู้ความรู้สึกจากมือ จากนั้นก็ฝังเอาไมโครอิเลคโทรดขนาดเท่าเม็ดกระดุมลงไปบนสมองส่วนนั้นๆ และที่มือของแขนเทียมก็จะมีเซ็นเซอร์รับแรงอยู่ ซึ่งเมื่อมือเทียมนั้นสัมผัสกับวัตถุต่างๆ คอมพิวเตอร์ก็จะคำนวนหาน้ำหนักการจับและส่งสัญญาณไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองส่วนนั้นๆ
ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้ป่วยสามารถรับรู้ความรู้สึกได้แม่นยำขึ้นถึงระดับนิ้วมือ รวมทั้งยังรู้สึกถึงแรงกระทำได้แม่นยำขึ้น เช่นแยกได้ว่ากำลังแค่สัมผัสกับวัตถุ หรือมีการกดวัตถุนั้นๆ อยู่ โดยตลอดเวลานับเดือนที่มีการทดสอบ ผู้ป่วยสามารถรับรู้และแยกวัตถุต่างๆ ได้ถูกต้องถึง 80% ทั้งนี้ผู้ป่วยยังไม่สามารถรับรู้ถึงอุณหภูมิของสิ่งของได้แต่อย่างใด
ที่มา – Gizmodo
ความเห็นของเรา
ความรู้สึกจากการสัมผัสนั้นเรียกได้ว่าสำคัญมากๆ เลยทีเดียวครับ ซึ่งทีผ่านมานั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถควบคุมแขนเทียมด้วยสมองได้แล้ว แต่การที่ขาดการรับรู้ความรู้สึกที่แม่นยำ ก็ยังทำให้การใช้งานแขนเทียมไม่สะดวกและไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร
สำหรับงานวิจัยนี้ ในอนาคตอาจจะสามารถพัฒนาจนเป็นผิวหนังเทียมที่สามารถรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้ก็เป็นไปได้เช่นกันครับ