Chrome เป็นเบราเซอร์ที่โดนเด่นในเรื่องของความเร็วและการรองรับมาตรฐานใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป Chrome เริ่มหนักขึ้น กินเครื่องมากขึ้น และทำงานได้ช้าลง เป็นเหตุให้ทางกูเกิลจึงต้องปรับปรุงการบริโภคแรมไปก่อนหน้านี้
อีกการปรับปรุงหนึ่งที่กูเกิลทำมาเงียบๆ ตั้งแต่ Chrome 53 บนวินโดวส์ (และ Chrome 54 สำหรับรุ่น 32 บิต) คือการที่กูเกิลใช้ฟีเจอร์ที่เรียกว่า Profile-Guided Optimizations (PGO) ซึ่งอยู่ในชุดเครื่องมือ Visual Studio ของไมโครซอฟท์
ฟีเจอร์ PGO นี้จะทำการตรวจสอบว่าฟังก์ชันการใช้งานใดที่ผู้ใช้จะเรียกใช้งานบ่อยๆ จากนั้นจะทำการคอมไพล์โค๊ดใหม่อีกรอบโดยเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพของฟังก์ชันนั้นๆ
ผลจากการใช้ฟีเจอร์ PGO ของไมโครซอฟท์นี้ ทำให้ Chrome สามารถทำงานบนวินโดวส์ได้เร็วขึ้น โดยตัวเบราเซอร์สามารถเปิดใช้งานได้เร็วขึ้น 17%, สามารถเปิดหน้าเว็บในแท็บใหม่ได้เร็วขึ้น 15%, และความเร็วการเปิดหน้าเว็บโดยรวมเพิ่มขึ้น 6%
ที่มา – TechCrunch
ความเห็นของเรา
ปัญหาความช้าและกินเครื่องของ Chrome นั้นไม่ได้ส่งผลเพียงแต่กับการใช้งานเว็บครับ ทุกวันนี้เทคโนโลยีของ Chrome ถูกเอาไปใช้สร้างแอพด้วย HTML แล้วแจกจ่ายใช้งานกันทั่วทั้งบน Windows, macOS, หรือ Linux ซึ่งก็ส่งผลให้แอพเหล่านี้รับเอาความกินเครื่องและความช้าของ Chrome ตามกันไปด้วย
ดังนั้นการที่กูเกิลเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพของ Chrome นอกจากจะช่วยให้เบราเซอร์ Chrome ทำงานได้เร็วขึ้นและใช้ทรัพยากรน้อยลงแล้ว แอพต่างๆ ที่เขียนด้วย HTML5 และใช้เทคโนโลยีของ Chrome ในการรันแอพ ก็จะได้ผลพลอยได้เหล่านี้ไปด้วยเช่นกันครับ