ในบ้านเราตอนนี้อาจจะเริ่มคุ้นเคยกับ “คาเฟ่” ในรูปแบบใหม่ๆ กันมากขึ้น โดยเฉพาะเหล่าคาเฟ่หมาคาเฟ่แมวที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในบ้านเรา ซึ่งวันนี้จะพาไปรู้จักกับเทรนด์คาเฟ่แบบใหม่ในอเมริกา “Repair Cafe” หรือ “คาเฟ่ช่างซ่อม”
คาเฟ่ช่างซ่อมนี้ไม่ใช่คาเฟ่ที่จะมีช่างหุ่นล่ำบึ้กมาเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า แต่จะเป็นสถานที่ที่รวมช่างซ่อมสิ่งของต่างๆ ในบ้าน ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ยันคอมพิวเตอร์ โดยเราสามารถนำสิ่งของที่เสียแล้วไปซ่อมได้ฟรีๆ (เท่าที่จะสามารถซ่อมให้ได้) หรือจะไปช่วยนั่งซ่อมของให้คนอื่นก็ได้เช่นกัน
แนวคิดของคาเฟ่ช่างซ่อมนี้มาจากว่าคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ไม่ได้ออกแบบสินค้าให้ใช้งานได้ยาวนานเหมือนแต่ก่อนเพื่อหวังให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าเรื่อยๆ (และเพื่อลดต้นทุนการผลิต) รวมทั้งในโรงเรียนก็ไม่ได้สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมสิ่งของขั้นพื้นฐานให้ ผลคือคึนสมัยนี้ต้องทิ้งของใช้ที่เสียแล้วจำนวนมากทั้งที่ยังสามารถซ่อมแซมใช้งานได้ ก่อเกิดเป็นขยะราคาแพงจำนวนมหาศาล
สำหรับผู้ที่สนใจจะเปิด “คาเฟ่ช่างซ่อม” สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ RepairCafe.org โดยในเว็บไซต์จะมีขายชุด Starter Kit ในราคา 49 ยูโร (ประมาณ 1,800 บาท) โดยเมื่อสั่งซื้อแล้วจะได้ของดังนี้
- คู่มือการเปิดคาเฟ่ช่างซ่อม
- โลโก้ Repair Cafe
- เท็มเพลตสำหรับทำโปสเตอร์และใบปลิว
- เท็มเพลตสำหรับฟอร์มแบบสำรวจ
- ป้ายสำหรับบูทซ่อมของประเภทต่างๆ
- ได้คอนเน็คชันกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่เปิดคาเฟ่ช่างซ่อมเช่นเดียวกัน
โดยเมื่อเราเปิดคาเฟ่ช่างซ่อมขึ้นมาแล้ว ทางโครงการก็จะนำคาเฟ่ของเราขึ้นเว็บไซต์ รวมถึงทำการโปรโมทคาเฟ่เราสู่สาธารณะ และสำหรับร้านที่อยู่ในยุโรป จะได้โค๊ดส่วนลดสำหรับสั่งซื้อชุดเครื่องมือซ่อมจาก iFixit ในราคา 29.95 ยูโร ฟรีค่าจัดส่ง (จากราคาปกติ 59.95 ยูโร และมีค่าจัดส่ง)
สำหรับในโซนเอเชียเราตอนนี้ เหมือนว่าจะมีเพียงญี่ปุ่นและอินเดียเท่านั้นที่มีการเปิดคาเฟ่ช่างซ่อมอย่างเป็นทางการ (ดูรายชื่อคาเฟ่ช่างซ่อมทั่วโลกที่นี่) หากใครสนใจจะเปิดคาเฟ่ช่างซ่อมแห่งแรกในไทย ก็ลองกันดูได้ครับ
ที่มา – RepairCafe.org ผ่าน ATTN: Video
ความเห็นของเรา
เป็นไอเดียคาเฟ่ที่น่าสนใจมากครับ สินค้าสมัยนี้มันไม่ทนเหมือนสมัยก่อนจริงๆ (ตัวอย่างง่ายๆ คือตู้เย็น บางบ้านจะมีตู้เย็นเก่ายี่สิบปีที่ยังทำงานได้ดีเป็นปกติ ในขณะที่ตู้เย็นตัวใหม่นั้นพังสนิทไปเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้ามีคุณภาพต่ำลงครับ
คงจะดีไม่น้อยถ้าหากมีที่ที่เราสามารถนำของเหล่านี้ไปซ่อมได้ฟรีๆ คนมาซ่อมก็ได้ฝึกฝีมือ ได้มีกิจกรรมทำยามว่าง ส่วนคนเอาของไปซ่อมก็ได้ของกลับไปใช้อีกครั้ง ก็นับได้ว่าวินๆ กันทั้งสองฝ่ายครับ (ซึ่งก็อย่าลืมอุดหนุนร้านเป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยกันด้วยนะ)