พบส่วนเสริมเบราเซอร์ชื่อดัง “WoT” ขายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่สามารถระบุตัวตนได้

WOT หรือ Web of Trust เป็นส่วนเสริมของเว็บเบราเซอร์  ที่จะแสดงให้ผู้ชมเห็นยว่าเว็บที่กำลังเข้าอยู่นี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด  ซึ่งคะแนนความน่าเชื่อถือเหล่านี้ก็จะมาจากที่ผู้ใช้ทำการโหวตกัน

ปกติของบริการฟรีเหล่านี้คือจะมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้เป็นการแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว  ซึ่งปกตินั้นข้อมูลที่ถูกเก็บจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนกลับมาถึงผู้ใช้ได้  หากแต่ว่าล่าสุด  ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ NDR (Norddeutscher Rundfunk) ของเยอรมนี  พบว่าข้อมูลผู้ใช้ที่ WOT เก็บไปนั้น  เป็นข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนกลับไปหาผู้ใช้ได้

ต่อมาทาง WOT ได้ออกมากล่าวว่าทาง WOT มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้จริง  แต่ข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกลบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ออกไปหมดแล้ว  ซึ่งทาง NDR ก็ออกมาตอบโต้อีกว่าพวกเขาสามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้กว่า 50 คนจากข้อมูลทดสอบของทาง WOT เอง

ผลจากเรื่องนี้  ทำให้เว็บเบราเซอร์ชื่อดัง  ทั้ง Chrome, Firefox, และ Opera ได้ทำการถอดส่วนเสริม WOT ออกจากคลังส่วนเสริมของตัวเองเรียบร้อยแล้ว  โดยทาง WOT เองก็ได้ออกมาประกาศว่ากำลังทำการปรับปรุงระบบการลบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ใหม่  พร้อมทั้งเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้ไม่แชร์ข้อมูลกับทาง WOT ด้วย  โดยทาง WOT คาดว่าส่วนเสริม WOT น่าจะกลับเข้าสู่คลังส่วนเสริมได้ภายในอาทิตย์หน้านี้

ที่มา – Engadget

ความเห็นของเรา

แม้ผู้ใช้หลายคนจะไม่รู้สึกว่าการเผยข้อมูลส่วนตัวที่สามารถระบุตัวตนได้  จะเป็นผลเสียอะไร  แต่ในความเป็นจริงแล้วข้อมูลเหล่านี้สามารถเอาไปต่อยอดอะไรได้อีกมากมายครับ  เช่นสามารถสืบตัวตนแล้วยิงโฆษณาตรงๆ กับผู้ใช้เลย (ตัวอย่างเช่นการโทรมาขายประกัน  ที่ทางประกันรู้ข้อมูลส่วนตัวของเรามาก่อนแล้ว) ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็จะสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้นั่นเอง

หรือหากกรณีที่ร้ายแรงขึ้นมาอีก  ก็คือเมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง (เช่นกรณีที่พนักงานค่ายมือถือค่ายหนึ่ง  แอบนำข้อมูลผู้ใช้ออกไปให้คนอื่น) ซึ่งจะทำให้เราสามาถถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น  ซึ่งอาจจะถึงขั้นนำไปสู่ Social Engineer ที่เอาข้อมูลไปสวมรอยและขโมยข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยก็ได้เช่นกัน

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ