หลังจากที่วงการ eSports ในไทยเริ่มกลายมาเป็นกระแสหลักได้สักพัก และทีม eSports ไทยก็ได้ไปเฉิดฉายในเวทีโลกอยู่บ่อยๆ ล่าสุดทางการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท ก็บรรจุ eSports ให้เป็นกีฬาตาม พรบ การกีฬาแล้วอย่างเป็นทางการ
ในวันนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีมติเห็นชอบให้อีสปอร์ตเป็นประเภทกีฬาตาม พรบ การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งทำให้กีฬา eSports สามารถจัดตั้งสมาคมกีฬาขึ้น และได้รับสิทธิ์สนับสนุนจากทางรัฐบาลได้เท่าเทียมกับสมาคมกีฬาอื่นๆ ทั้งในด้านเงินทุน ทรัพย์สิน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ปัจจุบันวงการ eSports กลายเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่สื่อและผู้ชมจำนวนมากให้ความสนใจ โดยในต่างประเทศนั้นมีการจัดแข่งขันทัวร์นาเมนต์ eSports ที่มีเงินรางวัลรวมกว่าพันล้านบาท นอกจากนี้สื่อในต่างประเทศยังพยายามกระโดดเข้ามาร่วมวงเพื่อชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันด้วย
อ้างอิง – ไทยรัฐ
eSports กับปัญหาเด็กติดเกม
ที่ผ่านมา อีสปอร์ตมักถูกนำไปโยงกับปัญหาเด็กติดเกมในบ้านเรา ซึ่งในความเป็นจริงก็ถือว่าเป็นปัญหาที่หนักอยู่พอตัว ซึ่ง ณ จุดนี้ต้องระบุไว้เลยว่า เด็กติดเกม ไม่ใช่นักกีฬาอีสปอร์ต โดยปกติแล้วทีมอีสปอร์ตจะมีการจัดการที่รัดกุมไม่ต่างอะไรกับทีมกีฬาทั่วไป โดยจะมีผู้จัดการที่คอยบริหารตารางเวลาสำหรับชีวิตประจำวัน เวลาซ้อม รวมถึงเวลาการออกกำลังกายด้วย (สโมสรอีสปอร์ตหลายๆ ที่ถึงกับมีฟิตเนสในตัว และบังคับนักกีฬาให้ออกกำลังเป็นประจำด้วย)
ดังนั้นหากผู้เล่นเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีสังกัดสโมสรจริงๆ บทบาทหน้าที่ของผู้เล่นก็จะไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาประเภทอื่นๆ เลย
สำหรับผู้ปกครองที่กลัวว่าบุตรหลานจะติดเกมมากขึ้นไปอีกโดยนำคำว่า “อีสปอร์ต” มาเป็นข้ออ้าง วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการคือการกำหนดเวลาเล่น และแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่น ซึ่งผู้ปกครองเองก็สามารถอ้างคำว่า “อีสปอร์ต” เพื่อนำหลักปฏิบัติแบบสโมสรกีฬามาใช้ได้ด้วยเช่นกัน