ดาวเทียมดวงแรกของกาน่าเริ่มใช้งานได้แล้ว แอฟริกาตั้งเป้าสานความร่วมมือด้านอวกาศ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  ประเทศกาน่าในแอฟริกา  ได้ปล่อยดาวเทียม GhanaSat-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศ  ล่าสุดในวันนี้  ดาวเทียมดังกล่าวเริ่มใช้งานได้จริงแล้ว

ดาวเทียม GhanaSat-1 นั้นเป็นดาวเทียมแบบกล่องที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัย All Nations ในกาน่า  และถูกส่งขึ้นอวกาศโดยจรวดของ SpaceX ก่อนที่จะถูกปล่อยสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ โดยดาวเทียมดังกล่าวจะถูกใช้ในการเฝ้าตรวจตราตามชายฝั่งของประเทศกาน่า  และยังจะถูกใช้ในการเรียนการสอนของชั้นมัธยมปลายอีกด้วย  ซึ่ง GhanaSat-1 จะมีสถานีฐานอยู่ที่แล็บ Space Systems and Technology ของทางมหาวิทยาลัยเอง

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับดาวเทียมดวงนี้คือในขั้นตอนการพัฒนานั้น  ทางทีมวิศวกรไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด (แม้จะเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศก็ตาม) ทั้งนี้ผู้ที่ให้การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีกับเป็นองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA

อย่างไรก็ดี  หลังจากโครงการ GhanaSat-1 สำเร็จไปได้ด้วยดี  ทางโครงการก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล  และมีแผนเตรียมสร้าง GhanaSat-2 ที่สามารถใช้เฝ้าดูการทำเหมืองเถื่อน การตัดไม้ทำลายป่าย และการใช้น้ำในประเทศได้ด้วย

ช่วงหลังมานี้ประเทศในทวีปแอฟริกาเริ่มให้ความสนใจในด้านการสำรวจอวกาศมากขึ้น  โดยก่อนหน้านี้ประเทศไนจีเรียก็ได้ทำการปล่อยดาวเทียมกล่องไปก่อนแล้ว  และในหลายประเทศเช่นแอฟริกาใต้, ไนจีเรีย, เคนย่า, และเอธิโอเปีย ก็มีการจัดตั้งองค์การด้านอวกาศขึ้นมาแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว สหภาพแอฟริกา (เป็นองค์กรความร่วมมือของ 55 ประเทศในแอฟริกา  ลักษณะเดียวกับสหภาพยุโรป หรือประชาคมอาเซียน) ได้เริ่มแนวทาง African Space Policy and Strategy ซึ่งระบุให้โครงการอวกาศในประเทศสมาชิกนั้น  ให้ถือเป็นโครงการอวกาศเดียวกัน  และถือเป็นหนึ่งในโครงการหลักของสหภาพ

อ้างอิง – TechCrunch

บล็อกเกอร์ไอที คนทำเว็บ ทาสแมว ถ่ายรูปได้ เสพติดหนังและซีรี่ส์เป็นชีวิตจิตใจ