ในแต่ละวันที่เราไถผ่านฟีดเฟซบุ๊ค เราก็จะเจอกับเนื้อหามากมายจากคนหลากหลายประเภท แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนบนเฟซบุ๊คนั้นมีกันอยู่กี่ประเภทนะ?
งานวิจัยล่าสุดจาก มหาวิทยาลัยบริคแฮม ยัง ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ใช้เล็กๆ จำนวน 47 คนในช่วงอายุ 18 ถึง 32 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้ทำแบบสำรวจ 48 ข้อ ที่ให้ระบุเกี่ยวกับความรู้สึกต่างๆ บนเฟซบุ๊ค ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่าจริงๆ แล้วผู้ที่ใช้งานแบบสุดโต่ง หลักๆ จะมีอยู่แค่ 4 กลุ่มเท่านั้น คือ
นักสร้างความสัมพันธ์
ผู้ใช้กลุ่มนี้มักจะชอบสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยการแชร์เนื้อหาซึ้งๆ ลงเฟซบุ๊ค (รวมถึงแท็กหาคนอื่นทีละเป็นสิบ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกันนัก) โดยผู้ใช้กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มมนุษย์แม่ที่มักจะแชร์เนื้อหาซึ้งๆ (รวมถึงสวัสดีเช้าวันจันทร์!) ลงเฟซบุ๊ค แล้วแท็กลูกๆ และญาติๆ เข้ามาในโพสต์นั้นๆ
ผู้ใช้กลุ่มนี้จะไม่ได้มองเฟซบุ๊คว่าเป็น “สังคมเสมือน” แต่จะมองว่าเป็นสถานที่สำหรับเผยแพร่ความคิด ความรู้สึก และเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเสรี
นักส่อง
หากเราเปิดหน้าโปรไฟล์ของผู้ใช้กลุ่มนี้ เราจะพบว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้อัพเดทเนื้อหาอะไรเลย ในบางครั้งเราอาจจะไม่เคยเห็นพวกเขาตามเพจหรือกลุ่มใดๆ เลยก็ได้ ทั้งนี้หากเปิดไปดูใน Messenger เราจะเห็นเขาขึ้นจุดเขียวออนไลน์อยู่ตลอดเวลา
ผู้ใช้กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมชอบเปิดอ่านฟีดไปเรื่อยๆ โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครๆ หรือสิ่งใดทั้งสิ้น หรือบางคนอาจจะเข้าขั้น Stalker ที่คอยตามส่องโปรไฟล์สาวๆ หรือหนุ่มๆ ที่แอบติดตามอยู่ได้ทั้งวันเลยทีเดียว
โฆษกประจำเฟซบุ๊ค
เคยเจอผู้ใช้กลุ่มที่มักจะแชร์แต่ข่าวสารและบทความต่างๆ ลงเฟซบุ๊ค แต่ไม่เคยแชร์เรื่องราวส่วนตัวเลย หรือไม่เคยแม้แต่จะเปลี่ยนภาพโปรไฟล์บ้างหรือเปล่า? นั่นแหละครับเหล่าโฆษกประจำเฟซบุ๊ค
โดยปกติแล้วผู้ใช้กลุ่มนี้จะไม่ได้ใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับคนอื่นอยู่แล้ว (แต่อาจจะโทรหาไปเลย) ดังนั้นแล้วผู้ใช้กลุ่มนี้เลยไม่ค่อยจะสนใจแชร์เรื่องราวของตัวเองลงเฟซบุ๊คสักเท่าไหร่
นักเซลฟี่
ก็ตามชื่อเลย ผู้ใช้กลุ่มนี้มักจะลงแต่รูปเซลฟี่ทั้งวัน รวมไปถึงมักจะประกาศให้โลกรู้ตลอดเวลาว่าตัวเองทำอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไรกับใครและเมื่อไหร่ เรียกได้ว่าหน้าโปรไฟล์สามารถเอามาเขียนเป็นอัตชีวประวัติเล่มโตๆ ได้เลยทีเดียว
โดยรวมแล้วผู้ใช้กลุ่มนี้จะใกล้เคียงกับกลุ่มนักสร้างความสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ใช้กลุ่มนี้ไม่ได้สนที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นเท่าไหร่นัก แต่จะมองหาคน “ติดตาม” แทน
จริงๆ แล้วผู้ใช้ในเฟซบุ๊คยังแบ่งออกไปได้อีกหลายกลุ่ม ในงานวิจัยนี้ได้เผยเพียงแค่กลุ่มใหญ่ๆ สี่กลุ่มเท่านั้น ซึ่งทางทีมวิจัยกล่าวว่าปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์กได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว และหลายคนก็ใช้งานมันอย่างหนักโดยไม่รู้ตัว ซึ่งงานวิจัยนี้น่าจะพอช่วยให้ผู้ใช้เริ่มรู้สึกตัวในขณะที่ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมาบ้าง