โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับราคาที่มีราคาถูกลงด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ใช้จัดสินใจเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือกันบ่อยขึ้นแม้ว่าเครื่องเก่าจะยังใช้ได้ดี ซึ่งผลที่ตามมาคือขยะอิเลคโทรนิคจำนวนมหาศาลจากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
ซัมซุงเองนั้นเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนที่มีสินค้าให้เลือกเป็นจำนวนมาก และยังเป็นผู้ครองส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดด้วย นั่นหมายความว่ามือถือของซัมซุงเองที่ผู้ใช้ไม่ได้ใช้งานแล้ว ก็ต้องกลายเป็นขยะอิเลคโทรนิคจำนวนมากด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองที่งาน Samsung Developer Conference 2017 (SDC2017) ซัมซุงเลยเสนอแนวคิด “Upcycling” ที่เอาโทรศัพท์มือถือไม่ใช้แล้วเหล่านี้มาใช้งานต่อในด้านอื่นๆ เพื่อลดขยะอิเลคโทรนิคลง
เราเองอาจจะคุ้นกับการเอามือถือแอนดรอยด์เก่าๆ มาประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ เช่นการทำเป็นกล้องวงจรปิดในบ้าน หรือกล้องไว้ดูเตียงลูก แต่โครงการ Upcycling เป็นการไปไกลกว่านั้นอีกขั้น โดยจะเป็นการถอดระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทิ้งออกไปจากโทรศัพท์มือถือ แล้วให้ผู้ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการอื่นๆ ลงไปแทน หรือพูดง่ายๆ คือเปลี่ยนมือถือ Galaxy ให้เป็นบอร์ดพัฒนาแบบ Raspbeyry Pi นั่นเอง
สมาร์ทโฟนสมัยใหม่นี้โดยตัวมันเองนั้นมีกำลังประมวลผลเทียบเท่ากับแล็ปท็อปรุ่นล่างๆ ซึ่งซัมซุงเคยบอกว่าถ้าเอา Galaxy S5 จำนวน 8 เครื่องมาช่วยกันประมวลผล จะมีแรงประมวลผลมากกว่าคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปทั่วไปเลยทีเดียว อีกทั้งชิปในสมาร์ทโฟนเหล่านี้ต่างก็ขึ้นชื่อเรื่องความประหยัดไฟที่มากกว่าชิปของเดสก์ท็อปอยู่หลายขุม ซัมซุงจึงแสดงตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ผ่านโครงการ Upcycling นี้ ด้วยการจับเอา Galaxy S5 จำนวน 40 เครื่องมาช่วยกันขุดบิตคอยน์!
นอกจากเครื่องขุดบิตคอยน์แล้ว ที่บูทงานยังมีตัวอย่างงาน Upcycling อื่นๆ อีก เช่นการติดตั้งลินิกซ์ Ubuntu ลงไปบนแท็บเล็ต Galaxy เก่าๆ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นแล็ปท็อป, การเอา Galaxy S3 มาเป็นเครื่องคุมสภาพน้ำตู้ปลา, หรือการเอาเครื่องไปใช้ร่วมกับระบบรู้จำใบหน้าเพื่อเป็นกล้องติดหน้าประตูบ้าน (ที่ซ่อนตัวมาในรูปของนกฮูก)
ในตอนนี้ซัมซุงเปิดหน้าเว็บของโครงการเอาไว้ที่ Upcycling.io ซึ่งในอนาคตจะผู้สนใจจะสามารถเข้ามาเปิดดูโครงการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด Upcycling รวมถึงแชร์โครงการของตัวเองได้ผ่านหน้าเว็บนี้
อ้างอิง – Slashgear, Motherboard