รีวิว WD MY PASSPORT SSD

รีวิว WD MY PASSPORT SSD ไดร์ฟพกพาที่เร็วสะใจ ขนาดเล็กจิ๋วพกพาสะดวก

Western Digital นั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตหน่วยความจำในระดับแนวหน้าของโลก ที่ล่าสุดควบรวม Sandisk เข้ามาเป็นของตัวเองเรียบร้อย ทำให้ WD นั้นยิ่งใหญ่ขึ้นมาในแถวหน้าทันที ตัวสินค้าที่ทีมงานเราได้มาทดสอบครั้งนี้คือ WD MY PASSPORT SSD เป็นไดร์ฟแบบพกพา ที่มีความน่าสนใจตรงที่ใช้เป็น SSD (Solid State Drive) ที่มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงกว่า Portable Hardrive ทั่วไปชนิดที่ว่าไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว

ที่ผ่านมาอุปกรณ์ไดร์ฟพกพาในตระกูล MY PASSPORT ของ WD นั้นจะใช้เป็นฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน แต่สำหรับ MY PASSPORT SSD นั้นใช้หน่วยความจำภายในเป็นแบบ Solid State Drive ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า โดดเด่นกว่าทั้งเรื่องของน้ำหนักที่เบากว่า ขนาดที่เล็ก

WD MY PASSPORT SSD รองรับมาตรฐาน USB 3.1 Gen-2 ทำความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลได้สูงสุดถึง 515 MB/s

หน้าตาการออกแบบจะเป็นดีไซน์ตามแบบตระกูล MY PASSPORT ของ WD เหมือนกันกับรุ่น HHD แต่จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีขนาดที่เล็กกว่ามากๆ เพียงแค่ 45 x 90 มิลลิเมตร และหนาแค่ 10 มิลลิเมตรเท่านั้น รวมถึงน้ำหนักของมันก็เบาจนบางทีแอบกลัวว่าจะทำหล่นหายได้ง่ายๆ

รีวิว WD MY PASSPORT SSD

หน้าตาการออกแบบจะเป็นลักษณะครึ่งนึงเป็นพลาสติกด้านสีดำ มีโลโก้ของ WD อยู่ ส่วนอีกครึ่งเป็นลวดลายทางสีเงินดูทันสมัยในกล่องแพ็กเกจนอกจากตัว WD MY PASSPORT SSD ก็จะมีสาย USB-C to USB-C ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร แถมมาให้ พร้อมกันนี้ยังมีหัวแปลง USB-C to USB-A 3.0  สำหรับเอาไว้เสียบพอร์ตแบบ USB-A แถมมาให้ด้วย

รีวิว WD MY PASSPORT SSD

รีวิว WD MY PASSPORT SSD

เมื่อถือแล้วจะรู้สึกได้เลยว่ามันเล็กมากๆ (นี่คือเล็กจริงๆ ไม่ใช่มือผมใหญ่นะ 5555)

รีวิว WD MY PASSPORT SSD

เทียบขนาดกับบัตรรถไฟฟ้า ยิ่งรู้สึกได้ถึงความเล็กจิ๋วพกพาง่ายของ MY PASSPORT SSD

พอร์ตเชื่อมต่อใช้เป็น USB Type-C

อินเทอร์เฟตในการเชื่อมต่อของ WD MY PASSPORT SSD จะใช้เป็นแบบ USB-C ที่มีขนาดเล็ก และเสียบได้ทั้ง 2 ด้าน สะดวกกว่าแบบ Micro USB อีกทั้งยังสามารถทำความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลได้รวดเร็ว ตามสเปคที่ทาง WD แปะมาบอกว่า สปีดในการ Read/Write ของ MY PASSPORT SSD ทำได้สูงถึง 550 MB/s

เราได้ลองทดสอบความเร็วของ MY PASSPORT SSD โดยเชื่อมต่อกับ MacBook Pro 13 นิ้ว (2016) ผ่านพอร์ตแบบ USB-C และใช้โปรแกรม Blackmagic Disk Speed Test ทดสอบดู ซึ่งผลที่ได้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก ค่าความเร็วในการเขียนอยู่ที่ 412.5 MB/s ส่วนค่าการอ่านอยู่ที่ 440 MB/s

ความเร็วขนาดนี้ถือว่าเร็วกว่าตัว Portable HDD ทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ความเร็วในการเขียน/อ่านจะอยู่ราวๆ 80-100 MB/s เท่านั้น

WD My Passport SSD DiskSpeedTest

มีซอฟท์แวร์ในการจัดเก็บข้อมูลมาให้ด้วย

ภายในตัว MY PASSPORT SSD เอง ออกแบบอินเทอร์เฟสมาให้รองรับการใช้งานได้ทั้งระบบปฎิบัติการ Windows (รองรับตั้งแต่ 10.8.1 หรือ 7) และ macOS X Sierra, El Capitan, Yostmite เสียบปุ๊บใช้งานได้เลย

แต่ก็จะมีแอปพลิเคชั่น Utility มาให้ด้วย 2 ตัวอยู่ในไดร์ฟ คือ WD Backup เอาไว้สำหรับใช้งานในการสำเนาบันทึกข้อมูลจากเครื่องเก็บลงในไดร์ฟให้อัตโนมัต รองรับทั้ง Dropbox และ Apple Time Machine และ WD Security จะใช้ช่วยเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยป้องกันด้วย Password และเข้ารหัสไฟล์แบบ 256-bit AES Hardware Encryption ให้ด้วย

รีวิว WD MY PASSPORT SSD

WD MY PASSPORT SSD ราคา รุ่นต่างๆ

MY PASSPORT SSD มีให้เลือกด้วยกัน 3 ขนาดคือ

  • WDMY PASSPORT SSD ขนาดความจุ 256GB ราคา 3,990 บาท
  • WDMY PASSPORT SSD ขนาดความจุ 512GB ราคา 7,990 บาท
  • WD MY PASSPORT SSD ขนาดความจุ 1TB ราคา 15,990 บาท

สรุป

ความเล็ก เบา และกะทัดรัดของ WD MY PASSPORT SSD เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมากๆ มันเล็กขนาดพกในกระเป๋าเสื้อได้สบายๆ ด้วยอินเทอร์เฟสที่เป็น USB-C เต็มรูปแบบ ทำให้ศักยภาพในการทำงานเรื่องโอนถ่ายข้อมูลเร็วปรู้ดปร้าดไม่มีสะดุด

การใช้งานคู่กับ MacBook Pro ถือว่าลงตัวมากๆ ตัว USB-C เสียบปุ๊บ mount ขึ้นแบบเร็วทันใจแทบไม่ต้องรอ และความเร็วในการอ่านเขียนของมันนั้น เหมาะกับการทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ได้สบาย ไม่ว่าจะเป็นไฟล์รูปภาพ, งานกราฟฟิก หรือตัดต่อวิดีโอ ความเร็วนั้นไม่รู้สึกสะดุดในการทำงานเลย

จึงเหมาะมากถ้าคุณใช้ MacBook หรือ MacBook Pro ยิ่งคนที่ซื้อรุ่นที่ความจุในเครื่องไม่เยอะมากอย่าง 128GB มา คราวนี้ในตัวเครื่องก็เก็บไว้สำหรับลงโปรแกรมกับงานทั่วไป แต่ถ้าทำงานใหญ่หรืองานกราฟฟิก, ตัดต่อวิดีโอ ก็ใช้ผ่าน WD MY PASSPORT SSD ได้เลย

อีกสิ่งที่รู้สึกว่าชอบก็คือความที่เป็น SSD นั้นทนเรื่องของแรงกระแทกและพกพาไปไหนมาไหนได้ปลอดภัยกว่าแบบ HDD ที่ข้างในยังเป็นแบบหัวอ่านเข็ม จึงมีโอกาสที่จะเกิดการเสียหายเวลาที่เคลื่อนย้ายหรือมีการกระแทกอยู่

แต่ว่าก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของราคา ที่เทียบกับแบบ HDD แล้วจะเห็นว่าราคาสูงกว่าเท่าตัวในขนาดความจุที่เท่ากัน และขนาดที่ใหญ่ที่สุดจะได้แค่ 1TB เท่านั้น ส่วนตัวแล้วแนะนำขนาด 256GB หรือ 512GB ยังอยู่ในราคาที่พอรับได้เมื่อต้องแลกกับความสะดวกสบาย ซึ่งถ้าใครต้องการเน้นเรื่องความจุมากๆ เลือกเป็นแบบ HDD จะดีกว่า

https://youtu.be/dAAEsp_sV1Y

จุดเด่น

  • ขนาดเล็กและน้ำหนักเบามากๆ พกพาสะดวก
  • ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่รวดเร็ว
  • ป้องกันเรื่องการกระแทกได้ดีกว่าไดร์ฟที่เป็นแบบฮาร์ดดิสก์
  • มีหัวแปลงเป็น USB-A 3.0 แถมมาให้
  • ประกันสินค้านาน 3 ปี

ข้อสังเกต

  • ราคายังค่อนข้างสูงพอสมควร
  • ขนาดความจุที่รองรับสูงสุดมีให้เลือกแค่ 1TB
  • ขนาดและน้ำหนักที่เบา จนบางทีแทบไม่รู้สึกว่ามีอยู่ อาจจะเผลอลืมหรือทำหายได้ (ฮา)

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน