สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สถานีอวกาศ Tiangong-1 (เทียนกง-1) ของจีน ตกสู่พื้นโลกแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ด้วยความเร็ว 17,000 ไมล์ต่อ ชม. หรือราว 27,353 กม./ชม. เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนใต้ใกล้กับประเทศตาฮิติ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 เมษายน 2561 (ตามเวลาประเทศไทย)โดยชิ้นส่วนของสถานีอวกาศดังกล่าวถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศจนเกือบหมด ก่อนที่เศษซากที่เหลือจะตกลงสู่ท้องทะเล
Tiangong-1
ตามที่ ดร. โจนาธาน แม็กโดเวลล์ จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียนของสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ข้อมูลบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ตำแหน่งของซากของสถานีอวกาศ เทียนกง-1 ได้ตกลงสู่มหาสมุทรนอกน่านน้ำเป็นส่วนที่ได้รับฉายาว่าเป็น “สุสานยานอวกาศ” ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกไม่ไกลมากนัก ตามปกติแล้วดาวเทียมและสถานีอวกาศต่างๆ ที่สิ้นอายุการใช้งาน จะถูกโปรแกรมให้ตกกลับสู่โลกในบริเวณนี้
ก่อนที่ เทียนกง 1 จะตกสู่โลกไม่กี่ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญจาก 13 องค์กรอวกาศทั่วโลก ได้ติดตามความเคลื่อนไหวด้วยเรดาร์ และพยายามคำนวนหาตำแหน่งที่จะตกให้ได้ แต่เกิดความผิดพลาด เมื่อหน่วยงานด้านอวกาศของจีนชี้ว่า เทียนกง-1 จะตกลงในทะเลนอกชายฝั่งเมืองเซาเปาลูของประเทศบราซิลทำให้เกิดความกังวลใจอย่างมาก แต่หลังจากนั้นในอีกไม่กี่นาทีต่อมาสถานีอวกาศเทียนกง-1 กลับตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ทำให้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
Mission complete: #China's first space lab Tiangong1 re-enters atmosphere, causing no damage on impact https://t.co/DU5tWG0Quj pic.twitter.com/gwbVEYNZEZ
— CGTN (@CGTNOfficial) April 2, 2018
สถานีอวกาศ เทียนกง-1 มีความยาวกว่า 10 เมตร และหนักกว่า 8 ตัน เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2011 แต่ได้สูญเสียการควบคุมไปเมื่อปี 2016 ทำให้ไม่สามารถสั่งการจุดระเบิดจรวดขับดัน เพื่อบังคับทิศทางให้ตกลงสู่ “สุสานยานอวกาศ” ซึ่งเป็นจุดที่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินมากที่สุดในมหาสมุทร และแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
ในอดีตก็เคยมีวัตถุอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่า เทียนกง-1 ตกกลับสู่โลกในลักษณะนี้มาแล้ว ซึ่งก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากการตกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ห้องปฏิบัติการอวกาศสกายแล็บ (Skylab) ของสหรัฐฯ ที่หนักเกือบ 80 ตัน ซึ่งบางส่วนตกลงในพื้นที่รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเมื่อปี 1979 แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
- กระสวยอวกาศโคลัมเบียของสหรัฐฯ ที่ตกเมื่อปี 2003 ซึ่งหนักกว่า 100 ตัน ตกจากวงโคจรโดยควบคุมไม่ได้ โดยเศษซากที่เหลือจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศกระจายตัวตกลงสู่พื้นที่รัฐเทกซัสและรัฐลุยเซียนาโดยไม่มีผู้ได้รับอันตราย
ความคิดเห็นจากทีมงานล้ำหน้าโชว์
แม้ว่า เทียนกง 1 จะตกลงมาแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันจีนก็ยังมี สถานีอวกาศ เทียนกง-2 ที่ยังใช้งานอยู่ได้ และกำลังเตรียมสร้างสถานีอวกาศแห่งที่ 3 ขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการอวกาศอย่างถาวร ซึ่งสถานีอวกาศแห่งใหม่นี้ประกอบด้วยโมดูลแกนกลางขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับโมดูลย่อยอีกสองส่วน และคาดว่าจะปล่อยขึ้นสู่วงโคจรได้ในช่วงต้นทศวรรษหน้า โดยจีนได้พัฒนาจรวดขนส่งอวกาศ Long March 5 ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากมาใช้กับภารกิจนี้โดยเฉพาะ โชคดีที่ไม่เกิดอันตรายกับผู้คนในระแวกนั้นๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ระทึกขวัญทีเดียวของการตกลงในครั้งนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า สถานีอวกาศแห่งที่ 3 ที่ว่าจะเสร็จในทศวรรษหน้าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่
ที่มา Space.com , CNN, CGTNOfficial