ช่วง 2-3 ปีหลัง ทาง SpaceX อยู่ในระหว่างทำโปรเจคที่ชื่อว่า Starlink project ซึ่งเป็นโปรเจคที่ตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ (low-orbiting satellite) กว่าพันดวงขึ้นสู่อวกาศ เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ผู้คนทั่วโลก
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ปล่อยดาวเทียมต้นแบบ 2 ตัวขึ้นสู่วงโคจร เพื่อทดสอบเทคโนโลยีก่อนที่จะปล่อยกลุ่มดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศจริงๆ
ดาวเทียมมันควรจะเคลื่อนตัวไปยังระดับความสูงที่สูงขึ้นกว่าระดับที่ถูกปล่อยขึ้นไปตอนแรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มันกลับไม่เป็นแบบนั้นเลย
ด้วยเหตุนี้เอง มันทำให้ SpaceX ต้องกลับมาทบทวนแผนการที่จะปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง
สื่อ The Verge รายงานว่า SpaceX เคยสอบถามไปกับทาง FCC (Federal Communications Commission หรือ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ) ว่าบริษัทฯสามารถจะปล่อยดาวเทียม 1,584 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรที่ความสูง 550 กิโลเมตรได้หรือไม่ (ซึ่งต่างจากที่เสนอไปตอนแรกที่ความสูง 1,110 กิโลเมตร) เนื่องจากที่วงโคจรต่ำกว่านั้น ทางบริษัทฯไม่จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมเยอะขนาดนั้น เพื่อการกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญ มันยังช่วยในเรื่องการลดขยะอวกาศด้วย กรณีดาวเทียมที่ใช้งานไม่ได้แล้ว และต้องถูกปลดระวาง
ที่วงโคจรต่ำ ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น แรงดึงดูด และอนุภาคในชั้นบรรยากาศ จะดันให้ดาวเทียมนั้นค่อยๆตกลงมาเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่า จะลอยอยู่ในวงโคจรได้มากสุด น่าจะภายใน 5 ปี
การกำจัดขยะอวกาศเป็นอีกประเด็นที่ทาง SpaceX ใส่ใจ เดิมที SpaceX มีแผนจะปล่อยดาวเทียมกว่า 12,000 ดวงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก แต่แล้ว ทาง FCC ก็อนุมัติให้ปล่อยได้เพียงแค่ 4,425 ดวงเท่านั้น (ซึ่ง 1,584 ดวงข้างต้นก็เป็นส่วนหนึ่งของดาวเทียมที่ FCC อนุมัติ)
ถ้า SpaceX ทบทวนแผนใหม่ ว่าจะปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นวงโคจรต่ำแล้วล่ะก็ ทาง FCC ก็คงต้องตรวจสอบ และอนุมัติใหม่อีกครั้ง