ESRI ร่วมกับเทศบาลเมืองนครนนท์ ผุด นครนนท์ 4.0 ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GIS ช่วยบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจ เฟสแรก เปิดแอพพลิเคชันใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บแลต รองรับงานบริการประชาชน เฟสที่สองจ่อลุยบูรณการระบบที่ดินและแผนภาษี ต้นปี 2562
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยนอกจากการเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว การยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือ Smart Local Government (SLG) เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันและให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งหัวใจของการบริหารจัดการเมืองจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการด้วยการนำข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือโลเคชั่นมาวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแผนที่ภาษี งานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานแจ้งเหตุ งานประชาสัมพันธ์ งานสาธารณะ งานภัยพิบัติ งานวางแผนทางด้านอัคคีภัย และงานสวัสดิการสังคม โดยประเทศไทยอาศัยการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นตัวกลางสำคัญในการดูแลประชาชน หากการบริหารส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่สามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานได้กระชับ รวดเร็วยิ่งขึ้น ก็หมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ในเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น นครลอสแอนเจลิส ได้ผันตัวเองมาเป็น สมาร์ทซิตี้ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการอยู่อาศัยของประชากรและการเติบโตของเมืองอย่างมีระบบ ปัจจัยหลักที่ช่วยในการสร้างเมืองอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) การเปลี่ยนนครลอสแอนเจลิสเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรซึ่งมีอยู่มากถึง 3.8 ล้านคน และหน่วยงานบริหารมากกว่า 40 องค์กร ทำให้เกิดปัญหาข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้การประสานงานระหว่างองค์กรติดขัดและการแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างล่าช้า จึงเป็นที่มาของการสร้าง “Los Angeles GeoHub” แพลตฟอร์มสาธารณะสำหรับการบริหารจัดการเมืองด้วยระบบ GIS
“Los Angeles GeoHub” ได้กลายเป็นต้นแบบของเมืองอื่น ๆ ด้วยการเก็บข้อมูลโลเคชั่นและข้อมูลเชิงพื้นที่จำนวนมหาศาลไว้ และพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นศูนย์กลางของระบบ Business Intelligence และยังช่วยให้พนักงานขององค์กรและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ หลังจากการเปิดใช้งานได้เพียง 3 เดือน สามารถแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของระบบสาธารณะ และสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น การสร้างแอพพลิเคชันให้ประชาชนในพื้นที่สามารถแจ้งปัญหาขยะหรือถนนสกปรก โดยเจ้าหน้าที่เทศบาลจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับแผนการทำความสะอาดถนนให้เหมาะสมตามสถานการณ์จริง
นครนนท์ 4.0 ให้บริการประชาชนด้วยระบบภูมิสารสนเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาระบบแผนที่ภูมิศาสตร์เพื่อบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ ช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาประชากร ให้กับเทศบาลนครนนทบุรี ภายใต้ชื่อ นครนนท์ 4.0 ซึ่งแบ่งโครงการจ้างเหมาการให้บริการประชาชนด้วยระบบภูมิสารสนเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ตออกเป็น 2 เฟส ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเฟสแรกเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้งานระบบ ควบคู่กับการเริ่มต้นเปิดให้บริการประชาชน”
ทาง ESRI ได้นำซอฟต์แวร์ ArcGIS แพลตฟอร์ม มาใช้ในการบูรณาการของข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งการให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยการระบุพิกัด หรือโลเกชัน ที่ชัดเจน ซึ่งเฟสแรกได้พัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้กับงานบริการประชาชน 6 ด้าน
- ระบบแจ้งปัญหาเรื่องร้องเรียน อาทิ ไฟดับ ไฟไหม้ อุบัติเหตุ
- ระบบงานติดตามโครงการ อาทิ สร้างถนน
- ระบบสวัสดิการและสังคม โดยเบื้องต้นจะใช้ดูแล และกำหนดสวัสดิการผู้สูงอายุ,
- ระบบสาธารณสุข ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล, อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และผู้นำชุมชน ในการดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยนอนติดเตียง,
- ระบบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้แจ้งเหตุระบุตำแหน่ง หรือพิกัด พื้นที่ประสบภัย เพลิงไหม้ ตำแหน่งหัวจ่ายนํ้าดับเพลิง เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ
- ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลต แจ้งเหตุร้องเรียนต่าง ๆ ผ่าน แอพพลิเคชัน ซึ่งข้อมูลการแจ้งเหตุร้องเรียน จะถูกส่งต่อข้อมูลมาที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บัญชาการในการกระจายงานและติดตามผ่านจอแสดงผลแดชบอร์ด
ทั้งนี้เทศบาลนครนนทบุรี มีความต้องการเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลบริหารจัดการ และข้อมูลบริการประชาชน ไปสู่ดิจิทัล เพื่อยกระดับไปสู่เมืองสมาร์ทซิตี ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อดำเนินการโครงการระยะ 2 ในต้นปีหน้า โดยจะบูรณาการระบบเข้ากับงานด้านที่ดิน แผนที่ภาษี กิจการนักเรียน การบริหารจัดการสถานศึกษาสังกัดเทศบาล งานด้านบริการประชาชน เช่น ตัดกิ่งไม้ หรือ ซ่อมถนน รวมถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่เพิ่มงานด้านสุขาภิบาลเข้าไป เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองขนาดใหญ่หรือเมืองขนาดเล็ก การจะเป็น สมาร์ทซิตี้ หรือ สมาร์ท โลคอล รัฐบาลต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ผนวกกับการนำข้อมูลโลเคชั่นและข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ มาวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงเพื่อช่วยในการตัดสินใจ พัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในชุมชนและประเทศในภาพรวม