World Video Game Hall of Fame เพิ่มรายชื่อเกมในตำนาน Solitaire, Mortal Kombat, Super Mario Kart และ Colossal Cave Adventure เข้ามาอยู่ในรายชื่อเกมแห่งหอเกียรติยศเกมโลกแล้ว
โอเค เราพอจะเข้าใจว่าหลายๆคน น่าจะไม่ค่อยรู้จักเจ้าเกมเหล่านี้กันสักเท่าไหร่แล้ว งั้นเดี๋ยวเราจะพูดถึงที่มาที่ไปสั้นๆให้ฟัง เริ่มจาก Solitaire ที่เป็นหนึ่งในชุดเกมที่มากับระบบ Windows 3.0 ปี 1990 ของ Microsoft ออกแบบมาให้เล่นด้วยเมาส์ได้
ที่ในสมัยนั้น เมาส์ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากๆอยู่ เพราะผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ จะยังคุ้นเคยกับระบบที่มีแต่ตัวหนังสือบนหน้าจออย่างเดียว นี่จึงเป็นเกมที่ช่วยผู้ใช้ฝึกใช้เมาส์ ควบคุมสิ่งต่างๆบนหน้าจอให้ชินมากขึ้น
เกมที่สอง Mortal Konbat เป็นเกมต่อสู้ดุดันเลือดสาด ที่ได้รับความนิยมสุดๆในตอนนั้น เป็นเกมตู้ที่อยู่ตามร้านเกมต่างๆ ออกมาในปี 1992 มาพร้อมตัวละครดีไซน์ออกมาได้โดดเด่น เท่อย่างบอก จ๊าบสุดๆในยุค
แล้วยังมีเอ็ฟเฟ็กต์เลือด ที่เต็มหน้าจอไปหมด เพิ่มความมันส์ของขาโจ๋ได้เป็นอย่างดี แต่มันก็รุนแรงมากไปจนเดือดร้อนถึงหน่วยงาน Entertainment Software Rating Board (ESRB) ต้องมาจัดเรตติ้งเกมตามอายุกันเลย
Super Mario Kart เกมแข่งรถน่ารักๆ เอาใจสายซิ่งสายแว้น โดยหยิบเอาตัวละครที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการเกม อย่าง Mario มานั่งขับรถโกคาร์ตแข่งกันกับตัวละคนอื่นๆในโลก Mario เป็นเกมที่ทำลงในเครื่องเกม Console อย่าง Super Nintendo Entertainment System หรือบ้านเราน่าจะรู้กันในชื่อ Super Famicom (SFC) ที่สมัยต้องดึงตลับออกมาเป่ากันอยู่เป็นประจำ และเกมนี้ ก็ขายดิบขายดี ได้ไปกว่า 100 ล้านตลับเลยทีเดียว
สุดท้าย Colossal Cave Adventure ค่อนข้างจะเป็นเกมที่เก่าแก่สักหน่อย ใครที่อายุน้อยกว่า 35 น่าจะไม่รู้จักกัน เป็นเกมที่ไมได้มีภาพกราฟิกอะไรเลย มีแต่เพียงตัวหนังสือบนหน้าจอสีดำเท่านั้น วิธีเล่นก็คือให้เราอ่านบรรยายสถานการณ์ต่างๆ แล้วก็เลือกตัวเลือก ว่าเราจะไปทางไหน ทำอะไร เปิดตัวออกมาในปี 1976 และได้รับความนิยมมากๆ
แต่เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้แพร่หลายในยุคนั้น ใครจะเล่นก็ต้องไปเกาะเอาตามเครื่อง Mainframe ของมหาลัย หรือตามเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ต่อพ่วงระบบออกมา แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพกราฟิกอะไรสวยงามอลังการ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้น และแรงบันดาลใจให้เกิดเกมอย่าง Zork และ Adventureland ตามมา จนได้เข้ามาอยู่ใน World Video Game Hall of Fame นี้
ที่มา: Notebookcheck