งานวิ่ง London Marathon ครั้งล่าสุด ใช้วิธี แจก “ลูกบอลน้ำ” กินได้ให้กับเหล่านักวิ่ง เพื่อลดการใช้ขวดและแก้วพลาสติกจำนวนมาก
การแข่งวิ่งมาราธอนแต่ละครั้งที่เป็นรายการใหญ่ๆ ที่มีผู้ร่วมเข้าแข่งขันหลักหมื่นคน เราจะเห็นว่ามีขยะที่เป็นพวกแก้วน้ำและขวดน้ำพลาสติกเป็นจำนวนมากๆ
ยกตัวอย่างเช่น รายการ ลอนดอน มาราธอน ครั้งที่ผ่านมา ได้ผลิตขยะที่เป็นแก้วน้ำและขวดพลาสติกมากถึง 920,000 ใบเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง การแข่งขันวิ่งมาราธอน รายการ London Marathon 2019 ที่เพิ่งจัดไป มีจำนวนผู้ที่มาร่วมงานวิ่งประมาณ 41,000 คน ทีมงานได้ตั้งเป้าที่จะลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกให้ได้ประมาณ 200,000 ขวด โดยได้ทดลองเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์อย่างอื่นแทน
ทั้งนี้ ได้มีการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจาก “สาหร่ายสกัด” โดยทำออกมาในรูปแบบถุงทรงกลมขนาดพอดีมือ ภายในบรรจุน้ำดื่มเอาไว้ ซึ่งวิธีใช้งานก็สะดวก เพราะ นักวิ่งสามารถเอาเข้าปากแล้วกินได้เลยทั้งถุง และไม่เป็นการสร้างขยะในงานวิ่งมาราธอน
ตัวบรรจุภัณฑ์ที่เป็นสาหร่ายสกัดนั้น มีชื่อว่า Ooho ซึ่งคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย Skipping Rocks Lab บริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แนวคิด คือ การทำก้อนสาหร่ายมาผลิตเนื้อเยื่อ ซึ่งนำเนื้อเยื่อมาใช้เป็นตัวถุงใส่น้ำ โดยเอาส่วนที่เป็นสีเขียว และกลิ่นออกไป ซึ่งต้นทุนนั้นถูกพลาสติก และที่สำคัญเลย คือ มันกินเข้าไปได้ ไม่มีรสชาติ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้กิน จะมีการย่อยสลายภายในเวลา 6 สัปดาห์
ลูกบอลน้ำ จะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ และช่วยลดขยะที่เป็นพลาสติกได้จำนวนมากได้แน่นอน และถ้าผลตอบรับที่ได้ออกมาดี คาดว่า มันจะถูกนำไปใช้ได้ในงานวิ่งใหญ่ๆ งานอื่นๆ ได้อีกในอนาคต
ซึ่ง งานวิ่ง ลอนดอน มาราธอน จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิ่งที่พยายามทำทุกอย่างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งนอกจากลูกบอลน้ำแล้ว ตัวที่เป็นเครื่องดื่มให้พลังงาน ก็จะถูกเสิร์ฟมาให้ในรูปแบบของถ้วยที่ย่อยสลายได้ ซึ่งจะมีแจกที่จุดเติมน้ำ ซึ่งก็มาจากแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน ที่จะลดขยะจากแก้วน้ำและขวดพลาสติกจำนวนมากในงานวิ่ง
แต่ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการใช้แก้ว หรือ ขวดพลาสติกเลย ผู้จัดงานต้องการลดปริมาณขยะที่เป็นพลาสติกลง และขวดพลาสติกที่ใช้งานในก็จะทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล และพวกขวดที่ถูกใช้งานนี้แล้ว ก็จะถูกนำไปรีไซเคิลเช่นกัน
นอกจากจะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แล้ว ทางผู้จัดงานวิ่งยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ที่จะเข้ามาช่วยลดจำนวนขยะ เช่น
- การลดจำนวนจุดเติมน้ำ จากเดิม 26 จุด เหลือเพียง 19 จุด
- ลดจำนวนการใช้ขวดน้ำพลาสติกให้เหลือเพียง 215,000 ขวด
- เริ่มทดลองใช้เข็มขัดที่ใช้ห้อยกระบอกใส่น้ำที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล สำหรับนักวิ่ง 700 คนให้ใช้คาดและพกไว้ดื่มระหว่างวิ่ง ในกรณีที่บริเวณนั้นไม่มีจุดแจกน้ำ