สืบเนื่องจากเทรนด์การประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก สมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA แสดงความกังวลเกี่ยวกับการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ที่ตั้งใจดันราคาให้สูงขึ้น หรือการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดอย่างไร้ประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคโดยตรง
“การประมูลนี้อาจจะล้มเหลวหากมีการออกแบบที่ไม่ดี” นายเบรท ทาร์นัทเซอร์ (Brett Tarnutzer) หัวหน้าฝ่ายสเปคตรัม จีเอสเอ็มเอ กล่าว “เราเห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับการจัดประมูลคลื่นความถี่ที่ไม่มีประสิทธิภาพว่า จะสามารถส่งผลกระทบต่อศักยภาพของการใช้งานคลื่นความถี่ 5G ก่อนที่เราจะเริ่มต้นเสียอีก ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องระวังไม่ให้ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้น และต้องไม่มุ่งแต่การสร้างรายได้สูงสุดจากการประมูลคลื่นความถี่มากกว่าประโยชน์จากการใช้งานของประชาชน”
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของประเทศไทย กำลังวางแผนอนุมัติใบอนุญาตสำหรับคลื่น 700 MHZ ให้แก่ผู้ประกอบการภายในเดือนนี้ และมีแผนการประมูลคลื่นความถี่ 5G อื่นๆ (คลื่นความถี่ 2.6 GHz และความถี่สูงมากอย่าง 26GHz หรือ 28GHz) ในปีถัดไป
จีเอสเอ็มเอ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลในการสร้างความมั่นใจในการเชื่อมต่อไร้สายที่มีคุณภาพรวมถึงราคาที่สามารถเข้าถึงได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ด้วยการตีพิมพ์รายงานระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการประมูล” ซึ่งเน้นย้ำข้อกังวลหลักๆ หลายข้อจากการประมูล 4G และ 5G ทั่วโลก พร้อมคำแนะนำในการจัดการประมูลอีกด้วย รายงานฉบับนี้ ยังเขียนถึงปัญหาจากการที่รัฐบาลต่างๆ ตัดสินใจดำเนินการ เพื่อบีบให้ราคาคลื่นความถี่สูงขึ้น สร้างความเสี่ยงในการจำกัดการลงทุนเพื่อขยายเครือข่ายในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค ตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ไม่ดี ได้แก่ การจำกัดจำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการสามารถมีได้ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งสัดส่วน การคัดเลือกกลุ่มคลื่นความถี่สำหรับการประมูลที่ไม่เหมาะสม หรือการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลที่สูงมาก
เอกสารดังกล่าวได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประมูล ดังนี้:
- สิ่งที่สำคัญที่สุดในการประมูลคลื่นความถี่คือ การให้บริการเครือข่ายที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่การสร้างรายได้สูงสุดจากการประมูล
- การจัดสรรคลื่นความถี่มีวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากการประมูล ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม
- จัดสรรคลื่นความถี่ให้เพียงพอและให้มีจำนวนมาก และจัดทำแผน การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนการบริการเครือข่ายที่มีคุณภาพสูง การแบ่งคลื่นความถี่ไว้สำหรับอุตสาหกรรมเดียวกันหรือผู้ประกอบการรายใหม่อาจทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงคลื่นได้น้อยลง และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงขึ้น
- การออกแบบการประมูลไม่ควรสร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ไม่จำเป็นให้กับผู้ร่วมประมูล
- การเลือกช่วงคลื่นความถี่สำหรับการประมูลที่ไม่เหมาะสม หรือกลุ่มคลื่นความถี่ที่ไม่ยืดหยุ่นจะทำให้เกิดการกระจายคลื่นความถี่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
จีเอสเอ็มเอ อินเทลลิเจนส์ (GSMA Intelligence) รายงานว่า ในปี 2561 ระบบนิเวศของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยสร้างรายได้ถึง 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศซึ่งมีมูลค่า 2.11 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และด้วยการสนับสนุนที่ดีจากนโยบายที่เหมาะสม มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะสูงถึง 2.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เนทบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีเงินได้จากการเก็บภาษีจากระบบนิเวศของโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึงกว่าหนึ่งในสามของรายได้ภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน
“คลื่นความถี่เป็นปัจจัยสำคัญของเครือข่ายโทรศัพท์และการใช้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลเสียโดยตรงต่อผู้บริโภค” ทาร์นัทเซอร์ กล่าวเสริม “ ดังนั้น รัฐบาลต่างๆ ควรเล็งเห็นว่า วัตถุประสงค์หลักของการกระจายคลื่นความถี่ไม่ใช่การสร้างรายได้สูงสุด แต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคจากการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดีที่สุด”