สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผนึกอาร์เอสเอ คอนเฟอเรนซ์ (RSA® Conference) และไซเบอร์เทค โกลบอล อีเวนต์ (CYBERTECH Global Events) 2 องค์กรอีเวนต์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับโลก ร่วมจัดงาน “Thailand Cybersecurity 2019” มหกรรมนิทรรศการและการประชุมระดับสากล ภายใต้แนวคิด Cybersecurity Digital Transformation ให้คนไทยพร้อมรับ-ปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย ด้วยเวทีสัมมนาผู้เชี่ยวชาญมาอัปเดตและแชร์เทรนด์ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ใหม่ๆ ชมนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัย และเปิดโต๊ะให้เจรจาธุรกิจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 19-20 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์เซ็นทรัลพลาซา (ลาดพร้าว)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานเปิดงาน Thailand Cybersecurity 2019 กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เดินหน้าสานต่อพันธกิจการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามกรอบ SIGMA ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่ S (Cyber Security) การปกป้องคุ้มครองข้อมูล ทั้งข้อมูลส่วนตัว องค์กรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ห่างไกลจากภัยไซเบอร์ I (Digital Infrastructure)เน้นให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น โครงการหมู่บ้านประชารัฐ ให้ชุมชนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เคเบิลใต้น้ำ และ smart city G (Digital Government) เน้นวางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ประชาชนเข้าถึงภาครัฐดียิ่งขึ้น M (Digital Manpower) เน้นพัฒนาบุคลากรกำลังสำคัญในการเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล 4.0 และ A (Digital Applications) สื่อกลางที่ช่วยเปิดอุตสาหกรรมประเทศไทย ทั้งธุรกิจที่มีอยู่ในตลาดแล้วและธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้าน“Security”ด้านสำคัญที่ส่งเสริมให้ด้านอื่นๆ ทั้ง infrastructure government applications รวมทั้งด้าน manpower สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาระบบสารสนเทศ ถูกคุกคาม โจมตี จาก“ภัยไซเบอร์”อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ European Parliament พบสถิติภัยคุกคามไซเบอร์ของโลกที่น่าสนใจ ประจำปี 2018 คือ 92% ของการติดมัลแวร์มาจากช่องทางอีเมล์ และ Web-based attacks –มีแนวโน้มการโจมตีระบบ CMS เพิ่มขึ้น รวมทั้ง Web application/injection attacks – SQL injection is the most common ส่วนฟิชชิ่งถูกใช้เป็นช่องทางการกระจายมัลแวร์ถึง 90% และเป็นต้นเหตุของ data breaches ถึง 72% ขณะที่ DDoS หรือ การจู่โจมเว็บไซต์เป้าหมาย โดยอาศัยการรุมจู่โจมจากหลายๆ ที่พร้อมๆ กัน ส่วนไทย จากสถิติการรับมือภัยคุกคามของไทยเซิร์ต ปี 2018 พบว่า ได้รับแจ้งเหตุและประสานงานรับมือภัยคุกคามทั้งสิ้น 2,520 ครั้ง รูปแบบภัยคุกคามพบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ภัยจากการบุกรุกหรือเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) รองลงมาคือการฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) และการบุกรุกหรือการเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusions)
“ดังนั้น ภัยคุกคามไซเบอร์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนไม่ควรมองข้าม กระทรวงดิจิทัลฯ มีภารกิจในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีบทบาทใหม่ในการเป็น Regulator ที่กำกับดูแลการทำธุรกิจบริการด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตจะมี 2 หน่วยงานใหม่ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและดำเนินงานในการส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการทำธุรกรรมออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ พร้อมขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไทย ให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งการสร้างความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเดินหน้าลงมือทำไปพร้อมกัน” ดร.พิเชฐ กล่าว
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า การจัดงาน Thailand Cybersecurity 2019 ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการจัดงานใหญ่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีจุดเริ่มต้นจากงาน Thailand Cybersecurity Week 2017 ในปี 2560 ต่อเนื่องมาสู่งาน “Big Change to Big Chance” ในปี 2561 ในโอกาสครบรอบ 8 ปีเอ็ตด้า ซึ่งไฮไลต์หนึ่ง คือ งานด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ภายใต้การขับเคลื่อนของเอ็ตด้า เพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญว่า “ความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์เป็นเรื่องของทุกคน” และมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
โดย “งาน Thailand Cybersecurity 2019” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Cybersecurity Digital Transformation เพื่อให้คนไทยพร้อมรับ-ปรับตัวสู่ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย นับเป็นงานอีเวนต์ระดับสากล โดยการผนึกกำลังกับ อาร์เอสเอ คอนเฟอเรนซ์ (RSA® Conference) และไซเบอร์เทคโกลบอล อีเวนต์ (CYBERTECH Global Events) องค์กรชั้นนำของโลกในการจัดอีเวนต์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่ได้นำงาน RSA®C UNPLUGGED และ CYBERTECH ASIA 2019 มาจัดพร้อมกัน เพื่อแชร์ประสบการณ์ด้าน Cybersecurity ระดับโลก ด้วยมุมมองและข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
“งานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรและบริษัทชั้นนำด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก ในการจัดงานครั้งนี้องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน นิสิตนักศึกษา ฯลฯ สามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น พร้อมร่วมฟังเวทีสัมมนาที่มีสปีคเกอร์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและไทยกว่า 25 คน มาให้ความรู้มาร่วมอัปเดต และแชร์เทรนด์ซีเคียวริตี้ใหม่ๆ เช่น The Next Chapter for AI: Ethics and Governance – Data Governance and Privacy Program Management – Regulator’s Roles and Responsibilities – Cyberthreat Landscape in Thailand and the Asia Pacific Region ฯลฯ พร้อมชมนิทรรศการนวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จากองค์กรชั้นนำทั่วโลกมากมายและการเปิดโต๊ะให้เจรจาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity” นางสุรางคณา กล่าวส่วนผู้สนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), บริษัท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), คลาวแฟร์ โดย ซอฟท์เดบู, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, อาร์เอสเอ (RSA), บริษัท เอซีอินโฟเทค จำกัด (ACinfotec), เอนีวิชั่น (AnyVision), บริษัท เบย์ คอมพิวติ้ง จำกัด (Bay Computing), บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Cisco), มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL), บริษัท ดาต้าวัน เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด (DataOne), บริษัท เอ็กซ์คลูซีฟ เน็ทเวอร์คส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟอร์ติเน็ต (ประเทศไทย) จำกัด (Fortinet), บริษัท จีเอเบิล จำกัด (G-Able), กิ๊กกะม่อน (Gigamon), อิมเพอว่า (Imperva), อิกซ์เซีย (IXIA), ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (NTT Communications), บริษัท ไซแมนเทค (Symantec), เทนเอเบิล (Tenable), บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด (Trend Micro) บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (nForce Secure) และผู้สนับสนุนอื่น ๆ มากมาย