เราคงจะคุ้นเคยกันดีกับทิปความปลอดภัยเวลาไปท่องเที่ยว แต่จะมีสักกี่คน ที่ระวังการเชื่อมต่อ USB ชาร์จไฟให้กับสมาร์ทโฟนตามที่สาธารณะ ที่มักเห็นได้บ่อยตามห้างสรรพสินค้าและสนามบิน
Caleb Barlow, Vice President ของ X-Force Threat Intellingence ที่ IBM Security เตือนว่าการใช้งาน USB สาธารณะเหล่านี้ เปรียบเสมือนเราเดินไปเจอแปรงสีฟันที่ตกอยู่ข้างทาง แล้วเอามาใส่ปากเรา
มันมีโอกาส และความเป็นไปได้ ที่เราสามารถติด Malware ได้ง่ายๆ ผ่านการเสียบชาร์จไฟกับช่อง USB สาธารณะเหล่านี้ โดยที่ไม่ได้ทันระวัง หรือคิดเผื่อเอาไว้เลย เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ต้องระวังไว้ในทุกวันนี้
คุณอาจจะสงสัยว่า มันเสี่ยงได้อย่างไร? กับการเสียบชาร์จไฟ USB จากจุดที่ให้บริการในที่สาธารณะ
เราต้องระลึกไว้เสมอว่า ทั้งสนามบิน สถานีขนส่ง โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่เป็นที่สาธารณะ เป็นจุดยุทธศาสตร์อย่างดีของเหล่าบรรดาแฮกเกอร์ หรือพวก Dark Web ทั้งหลาย ที่จะหาช่องในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลส่วนตัวของคนจำนวนมาก กระบวนการจากพอร์ต USB นี้ก็สามารถทำได้ และทำไม่ได้ยาก
แฮกเกอร์สามารถทำจุดชาร์จไฟปลอมขึ้นมา แทนที่พอร์ต USB เหล่านั้นจะจ่ายแค่กระแสไฟ แต่มันจะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลกับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ของเรา เพื่อเจาะระบบ, ส่งมัลแวร์เข้าไปติดตั้ง เพื่อทำการเบื้องหลังแสบๆ อย่างเช่น ขโมยพาสเวิร์ด, เลขบัญชีบัตรเครดิตหรือธนาคาร ฯลฯ ซึ่งเวลาคนที่เดินทางหรือใช้งานในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่ไม่ได้ระวังหรือสังเกตเรื่องนี้เลย
คำแนะนำที่ดีที่สุด คือการพกหัวชาร์จไปเสียบชาร์จกับปลั้กไฟเองจะดีที่สุด หรือจะเป็น Powerbank ก็ได้เช่นกัน อย่างน้อยอุปกรณ์เหล่านี้ ก็ไม่สามารถเป็นตัวนำของระบบซอฟต์แวร์ใดๆ ได้ มีเพียงแค่กระแสไฟฟ้าเท่านั้น
ยังมีทิปแนะนำอีกเล็กน้อย สำหรับเพิ่มความปลอดภัย
- พกอุปกรณ์ให้น้อยที่สุด ยิ่งเราพกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องคอยดูแลรักษามันมากเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่มีข้อมูลส่วนตัว ถ้าหากว่าต้องเดินทางไปทำงาน ก็แนะนำว่าให้ยืมเครื่องโน้ตบุ๊ก หรือสมาร์ทโฟนของบริษัทจะดีกว่า
- คอยอัปเดตอุปกรณ์ หมั่นตรวจสอบว่าระบบซอฟต์แวร์ในเครื่องที่เราใช้ เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันช่องโหว่เดิมๆ ที่อาจถูกใช้ขโมยข้อมูล
- ล็อกเครื่องให้ดี ใช้รหัสล็อกเครื่องที่เดายาก ไม่ให้ใครมาแฮ็กเข้าได้ง่ายๆ อาจใช้ระบบ Multi-Factor Authentication ช่วยเพิ่มเติม และอย่าเปิด Share ไฟล์ตลอดเวลา รวมถึงปิดการเชื่อมต่อ Bluetooth ด้วย เมื่อไม่ได้ใช้งาน และถ้าเครื่องมีระบบการเข้ารหัส Encryption ก็อย่าลืมเปิดใช้งานไว้ด้วย
- ปิดระบบเชื่อมต่ออัตโนมัติ อย่าให้เครื่องคอยเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ เองอัตโนมัติ เพราะบางครั้งอาจไปต่อเข้ากับสัญญาณที่ไม่ปลอดภัย เป็นช่องทางให้แฮกเกอร์เข้ามาขโมยข้อมูลในเครื่องได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ WiFi ฟรีที่ไม่น่าไว้ใจ เพราะใครจะรู้ว่าเป็น WiFi ที่ตั้งใจทำให้ใช้ฟรีจริงๆ หรือเปล่า อาจจะเป็นการแอบปล่อยสัญญาณ WiFi จากผู้ไม่หวังดี ที่จะหลอกให้เข้าเราเชื่อมต่อเข้าไป แล้วแอบเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในอุปกรณ์ของเรา
- ปกป้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณเหมือนกระเป๋าสตางค์ เพราะข้อมูลในเครื่องก็สำคัญไม่แพ้เงินหรือบัตรต่างๆ ดังนั้นอย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล แค่เดี๋ยวเดียวก็ไม่ควร
- อย่าแชร์การเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย เพราะนี่อาจกลายเป็นข้อมูลให้ผู้ไม่ประสงค์ดี รู้การเคลื่อนไหวของคุณ แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ดีต่างๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว
- อย่าเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนของคุณกับรถเช่า แน่นอนว่าเราอาจจะสะดวกกับการเชื่อมต่อ Bluetooth ไร้สายกับรถที่เช่ามาใช้ชั่วคราว แต่มันอาจเก็บข้อมูลส่วนตัวของคุณไป แม้ว่าคุณจะไม่ได้เชื่อมต่อแล้วก็ตาม
- ใช้เครดิตการ์ด อย่าใช้เดบิตการ์ด การรูดใช้บัตรตามที่ต่างๆ นั้น ไม่ได้มีความปลอดภัยมากนัก ถ้าหากว่าข้อมูลของเดบิตการ์ดถูกขโมยไป แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงเงินในบัญชีธนาคารของคุณได้เลยทันที และไม่สามารถขอความช่วยเหลือ หรือโอนเงินกลับมาได้เหมือนเครดิตการ์ด
ที่มา: Medium