แอป Zao แอปฟรีตัวใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ตัดต่อเอาหน้าเรา ไปใส่ในคลิปวิดีโอจากภาพยนตร์หรือซีรีส์ได้ โดยใช้เพียงแค่รูปถ่ายหน้าของเราเพียงรูปเดียว กำลังเป็นที่นิยมในจีนอย่างมาก
Bloombergs รายงานว่าแอปตัวนี้เพิ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อวันศุกร์ จากนั้นก็ไต่อันดับขึ้นมาเป็นแอปยอดดาวน์โหลดสูงสุดในกลุ่มฟรี ของ iOS App Store ประเทศจีน
ผู้ใช้งาน Twitter ชื่อว่า Allan Xia ได้ทวิตคลิปวิดีโอที่สร้างขึ้นจากแอปนี้ให้ดู ความยาว 8 วินาที เป็นการแทนที่หน้าของเค้าเอง สวมทับเข้าไปที่หน้าของ Leonardo Dicaprio ที่ดึงเอาฉากมาจากภาพยนตร์หลายเรื่อง
นอกเหนือจากการอัปโหลดรูปถ่ายของเราเข้าไปแล้ว ตัวแอปยังจะให้เราใช้รูปที่มีการเปิด/ปิด ตาและปาก ด้วย เพื่อเพิ่มความสมจริงให้มากยิ่งขึ้น
แต่ตัวแอปนั้นจะสวมหน้าทับได้แนบเนียน เฉพาะกับคลิปวิดีโอที่มีในตัวแอปเท่านั้น ไม่สามารถทำงานกับคลิปวิดีโออื่นๆ ที่เราอาจจะถ่ายเอง เพราะต้องใช้ระบบที่ผู้พัฒนา จัดทำให้กับคลิปตัวนั้นๆ โดยเฉพาะ
เทคโนโลยีตัวนี้คล้ายคลึงกับของนักวิจัยจาก London’s Imperial College ที่เปลี่ยนรูปนิ่ง ให้สามารถขยับปากเคลื่อนไหวร้องเพลงได้ เป็นการสร้างจากรูปเรา แต่ของ Zao จะเป็นการดึงเอาหน้าเราไปแปะทับหน้าเดิมในคลิป
และแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องถูกมองในแง่ของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวด้วย ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็ตรีตราในด้านลบกันแทบจะในทันที จากกระแสเรื่องความเป็นส่วนตัวในแง่ไม่ค่อยดีนัก จากแอปกระแสหลายตัวที่ผ่านมา
In case you haven’t heard, #ZAO is a Chinese app which completely blew up since Friday. Best application of ‘Deepfake’-style AI facial replacement I’ve ever seen.
Here’s an example of me as DiCaprio (generated in under 8 secs from that one photo in the thumbnail) ? pic.twitter.com/1RpnJJ3wgT
— Allan Xia (@AllanXia) September 1, 2019
แอป Zao ตัวนี้ขึ้นชื่อผู้พัฒนาว่า Changsha Shenduronghe Network Technology ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Momo บริษัทจีนที่ทำเกี่ยวกับระบบ Live-Streaming และบริการหาคู่
ในนโยบายความเป็นส่วนตัวจากผู้พัฒนา ก็เขียนเอาไว้ว่าคลิปที่สร้างขึ้นจากแอป ผู้พัฒนามีสิทธิที่จะนำเอาไปใช้งานใดๆ ก็ได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ทำให้บริษัทต้องออกมาตอบคำถามต่างๆ
ซึ่งบอกว่า จะไม่มีการนำเอารูปภาพหรือวิดีโอจากผู้ใช้งาน ไปใช้งานอื่นใด โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ จุดประสงค์หลักจะใช้เพื่อเพื่อพัฒนาระบบของแอปเท่านั้น และเมื่อลบข้อมูลจากแอปแล้ว ก็จะลบข้อมูลผู้ใช้จากเซิร์ฟเวอร์ออกด้วย
เคสนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นบทเรียนของผู้ใช้งาน จากที่เคยมีแอปกระแสอย่าง FaceApp ที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลก ต่างลุกขึ้นมาทำหน้าแก่กันเป็นทิวแถว จนเต็มหน้า Feed ไปหมด แต่ผู้พัฒนาก็ได้ข้อมูลรูปในเครื่องเราไปทั้งหมด
ยังมีกระแสจากสถานการณ์ในฮ่องกง ที่ตำรวจใช้ข้อมูลระบบจดจำใบหน้า เพื่อตามจับผู้ประท้วง จึงเริ่มทำให้ผู้ใช้งานจำนวนมาก ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลรูปถ่าย ที่จะหลุดไปถึงที่ต่างๆ
และเมื่อบริษัทได้รูปเราไปฟรีๆ แน่นอนว่าก็ต้องเอาไปใช้หารายได้เข้าบริษัท ซึ่งอาจเป็นการขายข้อมูล ให้บริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะใช้ทั้งสำหรับการโฆษณา หรือใช้ฝึกระบบ AI ในการจดจำใบหน้า ก็เป็นได้ทั้งนั้น และเราก็ไม่มีทางรู้ได้เลย
ที่มา: The Verge