หัวเว่ยร้องศาล คัดค้านคำสั่ง FCC

หัวเว่ยร้องศาล คัดค้านคำสั่ง FCC ว่าด้วยการใช้งบฯ กลางของรัฐบาล ชี้ตัดสินโดยพลการ

บริษัทหัวเว่ย แถลงการดำเนินการทางกฎหมายต่อคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCC) ของสหรัฐฯ โดยขอให้ศาลถอดถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งลงมติโดยคณะกรรมการกลางฯ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คำสั่งดังกล่าวห้ามผู้ให้บริการในชนบทของสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง หรือยูเอสเอฟ (Universal Services Funds – USF) ซื้อผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย

คำร้อง ณ ศาลอุทธรณ์ภาคห้าแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Court of Appeals for the Fifth Circuit) ระบุว่าหัวเว่ยร้องขอศาลให้ระงับคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการกลางฯ เนื่องจากทางคณะกรรมการกลางฯ ไม่ให้โอกาสหัวเว่ยเข้าร่วมกระบวนการทางกฎหมายตามที่ร้องขอ ในกรณีที่ระบุให้หัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และหัวเว่ยยังเชื่ออีกว่าคณะกรรมการกลางฯ ล้มเหลวในการยื่นหลักฐาน หรือเหตุผลที่เหมาะสม หรืองานวิจัยที่จะสนับสนุนการตัดสินโดยพลการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายอื่นๆ

ดร.ซ่ง หลิ่วผิง (Dr. Song Liuping) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย ระบุในแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “การแบนบริษัทอย่างหัวเว่ยเพียงเพราะเราเริ่มต้นธุรกิจของเราในประเทศจีน ไม่ได้แก้ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ใดๆ”

หัวเว่ยร้องศาล คัดค้านคำสั่ง FCC

ซ่งระบุว่าอาจิต ไพ ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) และคณะกรรมการคนอื่นๆ ไม่สามารถแสดงหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของพวกเขาได้ว่าหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงจริง ทั้งยังเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงและการคัดค้านของหัวเว่ยและผู้ให้บริการในเขตชนบท หลังจากที่คณะกรรมการกลางฯ เสนอประเด็นดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2018

“หัวเว่ยยังส่งความเห็นอย่างละเอียดไปทั้งหมด 21 ครั้ง เพื่ออธิบายว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นจะส่งผลเสียต่อผู้คนและธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลอย่างไรบ้าง ทว่าคณะกรรมการฯ เพิกเฉยต่อความเห็นทั้งหมด” เขากล่าว

“ผู้ให้บริการทั่วพื้นที่ชนบทของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ ในรัฐมอนตานา รัฐเคนตักกี และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในรัฐไวโอมิง พวกเขาเลือกที่จะทำงานกับหัวเว่ยเพราะพวกเขาเคารพคุณภาพและความซื่อตรงของผลิตภัณฑ์เรา คณะกรรมการกลางฯ ไม่ควรจะปิดประตูต่อความร่วมมือที่จะสร้างการเชื่อมต่อในชุมชนชนบทของสหรัฐฯ” ซ่งกล่าวเสริม

เกลน นาเกอร์ (Glen Nager) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านกระบวนการกฎหมายของหัวเว่ย ระบุว่าคณะกรรมการกลางฯ ประกาศการใช้กฎหมายที่ปราศจากมาตรฐาน ที่ผ่านการอนุมัติโดยพวกเขาเอง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับหัวเว่ยและบริษัทจีนอื่นๆ ตามเจตจำนงของพวกเขาเท่านั้น

หัวเว่ยร้องศาล คัดค้านคำสั่ง FCC

นอกจากนี้ นาเกอร์ยังระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการกลางฯ เกินขอบเขต “อำนาจตามกฎหมาย” ขององค์กร เนื่องจากคณะกรรมการกลางฯ ไม่มีอำนาจในการตัดสินความมั่นคงของชาติ หรือระงับการใช้กองทุนยูเอสเอฟด้วยคำตัดสินดังกล่าว  “คณะกรรมการกลางฯ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของชาติ”

นาเกอร์ระบุว่า การที่คณะกรรมการกลางฯ ระบุให้หัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาตินั้นขาดหลักฐานสนับสนุนทั้งในแง่กฎหมายและในแง่ของข้อเท็จจริง “การตีตราดังกล่าวมิได้เกิดจากหลักฐาน แต่เกิดจากความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานต่อกฎหมายจีน รวมถึงเกิดจากการกล่าวหาและการเสียดสีไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่น่าเชื่อถือ และไม่อาจยอมรับได้ การตีตราเช่นนี้เป็นกรณี
การด่วนตัดสินที่แย่ที่สุดและน่าละอาย” เขากล่าว

หัวเว่ยร้องศาล คัดค้านคำสั่ง FCC

คาร์ล ซ่ง (Karl Song) รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของหัวเว่ย ระบุว่าคำสั่งของคณะกรรมการกลางฯ เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาการเชื่อมต่อในพื้นที่ชนบทของอเมริกา ซึ่งพึ่งพาอุปกรณ์ของหัวเว่ย เพราะผู้จำหน่ายรายอื่นไม่ยินดีจะทำธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว “ที่อยู่ห่างไกลเกินไป หรืออยู่ในภูมิประเทศที่เข้าถึงยาก หรือมีจำนวนประชากรน้อย” เขาเสริมว่าคำสั่งแบนหัวเว่ยและเงื่อนไขให้ “กำจัดและแทนที่” (rip-and-replace) ผลที่ตามมานั้นจะสร้างความเสียหายมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ และจะบีบให้ผู้ให้บริการรายย่อยบางรายต้องล้มละลาย

Blogger สาย Multi Function ตามติดเทคโนโลยีมือถือ, แท็บเล็ต, แอพ, เกมคอนโซล, โลกโซเชียล และจักรยาน