Grab Mini-GC

Grab ปี 63 เล็งขยายพื้นที่ให้บริการอีก 30 จังหวัดในไทย ผ่านโมเดล “Mini-GC”

Grab เดินหน้ารุกสู่พื้นที่ต่างจังหวัดเ เล็งขยายการให้บริการเพิ่มเติมอีก 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย ภายในปี 2563 ผ่านโมเดล “Mini-GC” เปิดศูนย์อบรมสาขาย่อย

แกร็บ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศเดินหน้ารุกสร้างการเติบโตทางธุรกิจในประเทศไทยอย่างยั่งยืน พร้อมขยายการให้บริการในต่างจังหวัดเต็มรูปแบบผ่านโมเดล “Mini-GC” หรือ ศูนย์อบรมสาขาย่อย เล็งดันผู้ประกอบการรายย่อยร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจช่วยขยายฐานผู้ใช้บริการ พร้อมรับสมัคร ดูแลและยกระดับมาตรฐานการให้บริการของพาร์ทเนอร์คนขับ–จัดส่งอาหาร รวมถึงพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร เพื่อรองรับแผนการเติบโตไปสู่ 30 จังหวัดทั่วไทยภายในปี 2563

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า “ปี 2562 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีทองของแกร็บ ประเทศไทย โดยธุรกิจของเรามีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งบริการการเดินทาง บริการส่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) บริการจัดส่งพัสดุและสิ่งของผ่านแกร็บเอ็กซ์เพรส (GrabExpress) นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าตอบสนองเทรนด์ธุรกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัลเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสดโดยได้เปิดตัวแกร็บเพย์วอลเล็ต (GrabPay Wallet) อย่างเป็นทางการ รวมถึงนำเสนอบริการเสริมใหม่ๆ อย่างบริการรถรับ-ส่งสำหรับลูกค้าชั้นธุรกิจผ่านแกร็บคาร์ พรีเมียม (GrabCar Premium) บริการคนขับรถยนต์ส่วนตัวอย่างแกร็บไดรฟ์ยัวร์คาร์ (GrabDriveYourCar) รวมไปถึงบริการสั่งซื้อของสดหรือสินค้าจากท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ตผ่านฟีเจอร์ Groceries

Grab Mini-GC

โดยปัจจุบันพื้นที่ให้บริการของแกร็บครอบคลุม 20 จังหวัดทั่วประเทศ และเรายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย”

สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 35,000 ล้านบาทนั้น GrabFood ถือเป็นผู้เล่นรายหลักที่คอยขับเคลื่อนตลาดและสร้างโอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัลให้กับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก โดยนอกจากแคมเปญการตลาดที่จัดเต็มต่อเนื่องเพื่อสร้างสีสันตลอดทั้งปีแล้ว ในปีที่ผ่านมาแกร็บยังได้เริ่มขยายการให้บริการไปหัวเมืองและเมืองรองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในจังหวัดอื่นๆ

จากเดิมที่มีเพียงกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาไม่ถึงปีในการขยายธุรกิจ GrabFood ไปยัง 14 จังหวัดทั่วไทย จนได้รับความนิยมและสามารถครองใจผู้บริโภคในจังหวัดหลักๆ ทั่วทุกภาค ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี โคราช รวมถึงหาดใหญ่  ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของยอดรวมการสั่งอาหารของ GrabFood มาจากกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัด

“สำหรับในปีนี้ แกร็บเตรียมรุกตลาดต่างจังหวัดต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าขยายฐานการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุม 30 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า ‘ศูนย์อบรมสาขาย่อย’ หรือ Mini–GC (Mini Grab Center) ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายธุรกิจ โดยเราเชื่อว่าโมเดลนี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจไปยังจังหวัดท้องถิ่นและสามารถตอบสนองความต้องการของทั้งพาร์ทเนอร์และผู้ใช้บริการในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่แกร็บได้นำโมเดลนี้มาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจและสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับแกร็บ
ประเทศไทยได้” นายธรินทร์ กล่าวเสริม

grab-mini-gc

นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้อํานวยการธุรกิจแกร็บไบค์ และศูนย์อบรมสาขาย่อย แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “Mini-GCเป็นโมเดลธุรกิจที่ แกร็บ ประเทศไทย ตั้งใจนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพและต้องการก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกับแกร็บ โดยเจ้าของศูนย์ฯ จะมีหน้าที่ในการรับสมัคร ดูแล รวมถึงควบคุมมาตรฐานการให้บริการของพาร์ทเนอร์คนขับ–ส่งอาหาร และประสานงานกับพาร์ทเนอร์ร้านค้า โดยแกร็บจะคอยให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพ พร้อมมีทีมงานที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และประเมินผลคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกอบการที่จะร่วมเปิดศูนย์ Mini-GCจะต้องผ่านการพิจารณาของแกร็บใน 3 ด้าน ภายใต้หลักการ 3 ท. อันได้แก่ 

  1. ทุน คือต้องมีเงินทุนตั้งต้นและมีสถานะทางการเงินมั่นคง 
  2. ที่ คือมีความสามารถในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเปิดศูนย์ฯ
  3. ทัศนคติ คือจะต้องมีแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่และสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจของแกร็บ 

เพื่อให้สามารถพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แกร็บได้เริ่มทดลองใช้โมเดลดังกล่าวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจและขยายการให้บริการ โดยได้รับเสียงตอบ

รับที่ดีจากพาร์ทเนอร์คนขับและพาร์ทเนอร์จัดส่งอาหาร-พัสดุ ปัจจุบัน แกร็บมี Mini-GCจำนวนทั้งสิ้น 24 ศูนย์ โดยตั้งเป้าขยายจำนวนไปในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัวภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขยายตัวของธุรกิจที่วางไว้

“การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักในการดำเนินธุรกิจของแกร็บที่เรียกว่า Grab For Good หรือ แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า โดยเรามุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศธุรกิจของแกร็บ ไม่ว่าจะเป็น พาร์ทเนอร์คนขับ-ส่งอาหาร พาร์ทเนอร์ร้านค้า รวมไปถึงเจ้าของศูนย์ Mini-GC ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถก้าวทันและเติบโตไปพร้อมเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล เราเชื่อมั่นว่า โมเดลนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยผลักดันการเติบโตทางธุรกิจให้กับ แกร็บ ประเทศไทย แต่ยังจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าและสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0” นายธรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจหรือต้องการสมัครเป็นเจ้าของศูนย์อบรมสาขาย่อยของแกร็บ หรือ Mini-GC สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ https://grabdriverth.com/mini-gc