ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การอนามัยโลก (WHO) Tedros Adhanom ได้แนะนำวิธีการใช้ชีวิตในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด นอกจากต้องดูแลสุขภาพแล้ว การเล่นเกม ก็ช่วยให้คุณคลายความเครียดของจิตใจในระยะนี้ด้วย
จากข้อแนะนำทั้งหมด 5 ข้อมีแนะนำให้เล่นเกม ใครที่เล่นเกมอยู่คุณมาถูกทางแล้ว เพราะจะเป็นการช่วยในเรื่องของสุขภาพจิตในช่วงภาวะวิกฤติแบบนี้ แต่ถ้าเล่นจนมากเกินไปไม่ลุกไปไหน หรือลืมทำงานอันนั้นก็ไม่น่าจะดี
5 ข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับดูแลตัวเองในภาวะการระบาดของ COVID-19
1. กินอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณทำงานได้อย่างถูกต้อง
2. จำกัด หรือ งด การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
3. ไม่สูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหากคุณติดเชื้อ COVID-19
4. ออกกำลังกาย โดยแนะนำให้ผู้ใหญ่ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน และเด็ก 1 ชั่วโมงต่อวัน หากอยู่คุณอยู่ในประเทศที่อนุญาตให้คุณออกนอกบ้านได้ ให้พยายามอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจากผู้อื่น แต่ถ้าคุณไม่สามารถออกจากบ้านได้ก็แนะนำให้ออกกำลังตามวีดิโอออกกำลังกาย, เต้น, เล่นโยคะ, เดินขึ้น-ลงบันไดแทน
และถ้าคุณทำงานที่บ้าน นั่งเป็นเวลานาน ๆ ก็ควรจะลุกขึ้นยืนและหยุดพัก 3 นาที ในทุก ๆ 30 นาที
5. การดูแลสุขภาพจิตใจ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเครียด สับสน และกลัวในช่วงวิกฤติแบบนี้ การพูดคุยกับคนรู้จักและไว้ใจสามารถช่วยได้ การช่วยเหลือคนอื่น ๆ ในชุมชน การแสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่นนั้นก็เป็นยาชั้นดี
โดยกิจกรรมที่ WHO แนะนำให้ทำเพื่อผ่อนคลายในภาวะนี้ คือการฟังเพลง อ่านหนังสือ และการเล่นเกม เป็นกิจกรรมที่ช่วยได้ แะพยายามอย่าอ่านหรือดูข่าวมากเกินไปถ้ามันทำให้กังวล รับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้แค่ 1-2 ครั้งต่อวัน
ความเห็นจากทีมงาน ล้ำหน้าโชว์
ในภาวะของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เริ่มเข้าสู่มาตรการที่เรียกว่า Social Distancing ที่ทุกคนจะต้องเริ่มปลิกวิเวก รักษาระยะห่างเพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้น้อยลง
ในยุคนี้ ถือว่าเรายังโชคดีที่มีเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ดีกว่าในยุคอดีตที่เคยมีโรคระบาด การเชื่อมต่อหากันสามารถทำได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเจอกัน รวมถึงกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายในภาวะเช่นนี้ ก็มีทางเลือกหลายอย่าง ซึ่งการเล่นเกมก็ถือเป็นอีกตัวเลือกที่ดี
ด้วยสถานการณ์แบบนี้ นอกจากสุขภาพร่างกายที่ต้องดูแลแล้ว สุขภาพของจิตใจก็สำคัญที่จะต้องห่วงใยดูแลด้วยเช่นกัน
ที่มา – who.int