กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจับมือ HUAWEI นำโซลูชัน AI สู้โควิด-19 เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาไวรัสรู้ผลใน 25 วินาทีบน HUAWEI CLOUD ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) เสริมกำลังบุคลากรทางการแพทย์ของไทย นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณสำหรับรายงานผลตรวจภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) COVID-19 ในหลักวินาที ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี ชี้เทคโนโลยี AI ของ HUAWEI CLOUD ในด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์จะช่วยรายงานผลตรวจให้แพทย์ได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในการฝ่าวิกฤต โควิด-19 ของประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมา
ด้วยเทคโนโลยี AI จาก HUAWEI CLOUD จะทำหน้าที่วิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel coronavirus, SARS หรือ COV) หรือผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ทางกระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับประชาชนและสถานการณ์แพร่กระจายของโควิด-19 มากที่สุด จึงเห็นความสำคัญในการเร่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน มาช่วยเสริมประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้วงการแพทย์ของไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวคือโซลูชัน AI บน HUAWEI CLOUD จากหัวเว่ย ที่จะช่วยให้แพทย์สามารถนำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่งและจะช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยในช่วงเวลานี้ได้”
นายพุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางกระทรวงฯ และหัวเว่ยได้ส่งมอบโซลูชัน AI สำหรับการตรวจโควิด-19 ดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยชาวไทยได้อย่างทั่วถึง”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปัญญาประดิษฐ์นี้ช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติของปอด โดยนำข้อมูล CT ของคนไข้ส่งไปบนระบบ CLOUD เพื่อวินิจฉัยโรคและยังสามารถระบุได้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือระยะรุนแรง โดยใช้เวลาประมวลผลเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทยในการรับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้เข้ามาด้วยอาการหอบเหนื่อยในตอนต้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที โดยไม่รอการตรวจในขั้นตอนอื่นๆ”
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เสริมว่า “ทางดีป้าได้ทำงานร่วมกับหัวเว่ย เพื่อส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI สำหรับการตรวจโควิด-19 ดังกล่าว ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว เตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยระยะรุนแรงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น”
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) กล่าวว่า “การตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เป็นหนึ่งในวิธีมาตรฐานในการตรวจหาไวรัสโควิด-19 ที่มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งสามารถวินิจฉัยและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีบริการผู้ช่วยAI จาก HUAWEI CLOUD สำหรับการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณที่ว่านี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ในไทยซึ่งกำลังรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อยู่ในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์ช่วยลดภาระงานของรังสีแพทย์ในไทย ทั้งยังช่วยสามารถส่งมอบผลตรวจแบบ CT quantification อย่างอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย”
การตรวจแบบ CT เป็นหนึ่งในวิธีวินิจฉัยและรักษาโควิด-19 แต่การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวต้องทำซ้ำและอ่านภาพหลายครั้ง เพื่อหารอยโรคในปอดที่มีจำนวนมากและยังเกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นการเพิ่มงานให้กับรังสีแพทย์ในไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ จำนวนบุคลากรรังสีแพทย์ที่สามารถวิเคราะห์และวินิจฉัยเชื้อโควิด-19 ได้อย่างแม่นยำยังมีจำกัด โซลูชันระบบ AI นี้จะช่วยลดภาระให้กับแพทย์ไทย และช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์ระบาดในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ในด้านรายละเอียดการทำงานเพิ่มเติมของโซลูชันดังกล่าว HUAWEI CLOUD จะใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์และการวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เพื่อแยกแยะระหว่างจุดขาวพร่าในปอด (ground glass opacities – GGOs) จำนวนมาก กับการรวมตัวกันของเนื้อปอด (consolidation) แล้ววิเคราะห์ผลเชิงปริมาณจากผลการตรวจ CT ปอดผู้ป่วย กระบวนการดังกล่าวเป็นการรวมข้อมูลทางอายุรกรรมและผลแล็บเพื่อช่วยให้แพทย์ระบุได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้นว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือระยะรุนแรง โดยโรงพยาบาลในประเทศจีนกว่า 20 แห่งได้นำโซลูชันนี้ปรับใช้เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหลังจากได้รับการปรับแต่งระบบและฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม ส่งผลให้โซลูชัน AI จาก HUAWEI CLOUD ตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีอัตราความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 96% และได้รับคะแนน DICE score สูงกว่า 85 คะแนน
ก่อนหน้านี้ ทางบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ได้ส่งมอบระบบนวัตกรรมสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ Huawei Telemedicine Video Conference Solution ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เต็มรูปแบบที่สามารถช่วยให้การดำเนินงานของบุคลากรแพทย์ในประเทศไทยมีความคล่องตัว สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์มือถือของตน และที่สำคัญคือยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้แก่ทีมแพทย์ไทยด้วยเช่นกัน