AIS ผนึก ทีมวิจัยวิศวะ จุฬาฯ ต่อเนื่อง เสริมประสิทธิภาพ “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์ผู้ช่วยส่งอาหารและยา ช่วยลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19
เอไอเอส ผนึก ทีมวิจัยวิศวะ จุฬาฯ ทำงานต่อเนื่อง เดินหน้านำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบสื่อสารช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ล่าสุด สนับสนุนระบบสื่อสารให้แก่ทีม CU-RoboCovid คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปพัฒนาระบบสื่อสารของ “น้องปิ่นโต” (Quarantine Delivery Robot) หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถส่งอาหารและยาระยะไกลพร้อมพัฒนาระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ (Quarantine Telepresence)
สำหรับคุณสมบัติการใช้งาน “น้องปิ่นโต” หุ่นยนต์พัฒนาเพื่อการขนส่งและการสื่อสารทางไกล เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย
- ช่วยขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์แก่คนไข้ ผ่านควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยง จากการต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังสามารถคอยเฝ้าระวังดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดแทนได้อีกด้วย
- ช่วยในการสื่อสารระยะไกล ผ่านหน้าจอที่ติดอยู่ ณ รถเข็นด้วยการควบคุมทางไกลบนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ช่วยให้แพทย์ พยาบาล สามารถติดตามดูแลคนไข้ได้ตลอดเวลา โดยระบบนี้จะช่วยลดทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องทิ้งทุกครั้ง เมื่อเปลี่ยนโซนการตรวจ และลดระยะเวลาการเข้าใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ปิ่นโต (Quarantine Delivery Robot) และระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ (Quarantine Telepresence) ได้ถูกทยอยติดตั้งพร้อมใช้งานแล้ว โดยเริ่มต้นที่
- โรงพยาบาลรามาธิบดี หุ่นยนต์ปิ่นโต จำนวน 1 ตัว ที่มาพร้อมระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ จำนวน 6 เครื่อง
- โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร เริ่มใช้ระบบสื่อสารทางไกลระหว่างแพทย์และคนไข้ จำนวน 17 เครื่อง