ซัมซุง ร่วมสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ CU-RoboCovid เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์แท็บเล็ตรุ่น กาแลคซี่ แท็บ แอคทีฟ 2 (Galaxy Tab Active 2) ให้แก่โครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ “CU-RoboCOVID” ซึ่งดำเนินงานโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท HG Robotics ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาหุ่นยนต์ CU-RoboCovid กล่าวว่า “ โครงการนี้จากการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย อีกทั้งการขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรในอนาคตหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงนำวิศกรรมหุ่นยนต์มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหา
พบว่าอุปกรณ์ประเภท Rugged Device ของซัมซุง มีคุณสมบัติด้านความทนทานต่อแรงกระแทกและการตกจากที่สูง กันน้ำและกันฝุ่นได้ดี สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ประกอบกับซอฟต์แวร์ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มซัมซุง น็อกซ์ ซึ่งนอกจาก จะช่วยเรื่องการรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงอุปกรณ์แล้ว ยังช่วยบริหารจัดการควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกลได้อีกด้วย”
ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ซัมซุงยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระและพัฒนากระบวนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเวลานี้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษในด้านความทนทานและการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อใช้งานในทุกสภาวะ อุปกรณ์ประเภท Rugged Device นี้ จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการใช้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุข เพื่อช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและลดอัตราการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์จากการสัมผัสผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับหมอและพยาบาลได้เป็นอย่างดี”
สำหรับแท็บเล็ตซัมซุง กาแลคซี่ แท็บ แอคทีฟ 2 นี้ จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของหุ่นยนต์ “ปิ่นโต” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ส่งของ (Quarantine Delivery Robot) และหุ่นยนต์ “น้องกระจก” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สื่อสาร (Quarantine Telepresent) ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถจัดการดีไวซ์จากระยะไกลได้ โดยจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันแพทย์ก็สามารถเฝ้าดูและสังเกตอาการคนไข้ได้จากทุกจุดในโรงพยาบาล ช่วยลดอัตราเสี่ยงติดเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์ ลดจำนวนอุปกรณ์การแพทย์บางส่วน นอกจากนี้ยังช่วยลดความกังวลของทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยในกระบวนการรักษา