ซัมซุง เปิดสอนโค้ดดิ้งผ่านโครงการ Samsung Innovation Campus ให้กับเยาวชนไทยเป็นปีที่ 2 เสริมพลังเด็กไทย ชูออนไลน์แพลตฟอร์ม รับสถานการณ์ปัจจุบัน
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก สานต่อโครงการ Samsung Innovation Campus (SIC) สอนโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนไทยเป็นปีที่ 2 ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการนำร่องในปีที่แล้ว มีเยาวชนไทยจากทั่วประเทศให้ความสนใจสมัครกว่า 500 คน โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้เริ่มโครงการเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ยกระดับโครงการสู่รูปแบบออนไลน์เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมพัฒนาเนื้อหาและกิจกรรมให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์
โครงการ Samsung Innovation Campus ในปีนี้ได้มีการนำเอาข้อมูลที่ได้จากโครงการนำร่อง รวมถึงผลการตอบรับที่มีต่อโครงการในประเทศต่างๆ มาใช้พัฒนาต่อยอด เพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเนื้อหาโครงการ ที่ปรับในสัดส่วนของภาษาโค้ดดิ้งให้เหมาะสมกับผู้เริ่มต้นเรียนและนักเรียนมัธยมต้นที่ต้องการศึกษาพื้นฐานการเขียนโปรแกรม
นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพเด็กไทยให้มีความพร้อมทางทักษะแห่งอนาคต ตามวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซัมซุงทั่วโลก ในการมุ่งสร้างพลังคน มุ่งสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน (Together for Tomorrow! Enabling People) ที่สนับสนุนให้ทุกคนค้นพบศักยภาพของตัวเองและแสดงศักยภาพอย่างเต็มพลัง ซึ่งในปีนี้เราได้ดำเนินการผ่านโครงการ Samsung Innovation Campus เป็นปีที่ 2 หลังจากที่ได้เปิดโครงการตัวนำร่อง ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมโครงการ โดยนักเรียนเกินกว่า 70% มีความพึงพอใจ ในปีนี้ เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีการยกระดับโครงการให้อยู่ในรูปของการอบรมออนไลน์
อาจารย์อดิศักดิ์ เสือสมิง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า เนื้อหาของหลักสูตรออนไลน์ในครั้งนี้ เรามุ่งเน้นให้นักเรียนได้เข้าใจพื้นฐานการเขียนโปรแกรมผ่านสแครช (Scratch), และไพธอน (Python) ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเรียนในวิชาวิทยาการคำนวณ โดยค่ายอบรมจะเน้นด้านเนื้อหาที่เรียนแบบต่อเนื่อง และเน้นการประยุกต์ความรู้เป็นชิ้นงานจริง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเนื้อหาภาษาซี (C-Programming) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเขียนโค้ดโครงการคาดหวังว่าความรู้พื้นฐานที่นักเรียนได้รับ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจการเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้น ได้เตรียมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอน รวมถึง ทีมผู้ช่วยสอนที่จะให้คำปรึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับนักเรียน