มหาวิทยาลัย Oxford เผยความคืบหน้าพัฒนา วัคซีน กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านไวรัส COVID-19

เป็นข่าวที่น่ายินดีมาก เมื่อการทดลอง วัคซีน ป้องกันโรค COVID-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย Oxford กับอาสาสมัครจำนวน 1,077 คน พบว่าร่างกายของอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน สามารถสร้างแอนติบอดี้และเม็ดเลือกขาวที่สามารถต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้

นี่เป็นงานวิจัยที่ทำให้เราเริ่มมีความหวังท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งหน่วยงานทางการแพทย์พยายามต่อสู้กับโรคระบาดที่แพร่กระจายอยู่ อย่างไรก็ตามอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า วัคซีนตัวนี้สามารถป้องกัน COVID-19 ได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ซาร่า กิลเบิร์ตจากมหาวิทยาลัย Oxford กล่าวว่าทางทีมวิจัยยังต้องทำการทดลองเพิ่มเติมกับอาสาสมัครที่มากขึ้นกว่านี้ อาจต้องมากถึงประมาณ 10,000 คนสำหรับการทดลองขั้นต่อไป ก่อนจะยืนยันได้ว่าวัคซีนตัวนี้สามารถใช้ป้องกันโรค COVID-19 ได้จริง ผลการทดลองในขั้นต้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่ถึงอย่างนั้น ทางการสหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อวัคซีนชนิดนี้ถึง 100 ล้านโดสแล้ว

Oxford University Coronavirus Vaccines วัคซีน COVID-19

วัคซีนตัวนี้มีชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 พัฒนาจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดในลิงชิมแปนซี และถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่สามารถเกิดการติดเชื้อในมนุษย์ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ผลทดลองที่ได้คือวัคซีนมีความปลอดภัย แต่มีผลข้างเคียงที่ไม่อันตราย ซึ่งอาสาสมัครที่ร่วมทดลองวัคซีน 70% บอกว่ามีอาการตัวร้อนและปวดศีรษะ ซึ่งนักวิจัยระบุว่าสามารถใช้ยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการดังกล่าวได้

ผลการทดลองก่อนหน้านี้ของ Synairgen บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจาก Southampton ประเทศอังกฤษพบว่า การใช้โปรตีน interferon beta สามารถช่วยผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยช่วยแบ่งเบาให้ไม่ต้องเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยหนัก โดยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเข้ารักษาตัวในแผนกผู้ป่วยหนักรวมถึงลดการใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 79% ลดอาการหายใจติดขัดได้ และลดเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลลดได้ถึง 1 ใน 3 จากเดิมที่ใช้เวลาเฉลี่ย 9 วันก็ลดลงเหลือ 6 วันโดย interferon beta นั้นเป็นโปรตีนร่างกายจะผลิตขึ้นมาเมื่อติดเชื้อไวรัส และทางนักวิจัยได้ให้อาสาสมัครหายใจเอาโปรตีนเข้าไปในร่างกายผ่านเครื่อง nebuliser ที่ใช้พ่นละอองยา โดยหวังว่าการทำแบบนั้นจะช่วยไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทาง Synairgen ยังอ้างอิงอีกว่าการรักษาคนไข้ด้วยวิธีนี้เพิ่มโอกาส 2-3 เท่าที่จะคนไข้กลับมาหายเป็นปกติ

สำหรับการทดลอง วัคซีน ในขั้นต่อไปจะขยายไปยังประเทศและภูมิภาคอื่น เนื่องจากระดับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสหราชอาณาจักรนั้นถือว่าต่ำ ทำให้การทดลองสรุปได้ยากว่าวัคซีนดังกล่าวได้ผลจริงหรือไม่ คาดว่าตัวอย่างของอาสาสมัครในขั้นต่อไปจะมากถึง 30,000 คนในสหรัฐอเมริกา 2,000 คนในแอฟริกาใต้ และ 5,000 คนในบราซิล

มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนตัวนี้จะได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาก่อนสิ้นปีนี้ ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าวัคซีนสามารถใช้งานได้จริงเร็วสุดในปี 2021

Oxford University Coronavirus Vaccines

นอกจากวัคซีนที่วิจัยโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford แล้ว ยังมีฝั่งสหรัฐฯและจีนที่วิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรน่าที่ให้ผลการทดลองคล้ายกัน โดยบริษัท Moderna ของสหรัฐฯเป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลอง โดยวัคซีนที่ทดลองสามารถช่วยให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ด้วยการฉีด RNA ของโคโรน่าไวรัสเข้าไปเป็นการสร้างโปรตีนของไวรัสเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ บริษัท BioNtech และ Pfizer ก็ได้ผลการทดลองที่น่าพอใจจากการฉีดวัคซีน RNA เช่นกัน ส่วนการทดลองในประเทศจีนใช้เทคนิคแบบเดียวกับของมหาวิทยาลัย Oxford และให้ผลที่น่าพอใจเช่นกัน อย่างไรก็ตามการทดลองและการวิจัยทั้งหมดนี้แม้จะอยู่ในขอบเขตของวิทยาศาสตร์แต่มันยังไม่ได้รับการรองรับและการพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง

รัฐบาลอังกฤษอยู่ระหว่างการทดลองวัคซีน 190 ล้านโดสที่แตกต่างกันดังนี้

  • 100 ล้านโดสของมหาวิทยาลัย Oxford ที่ทำจากการดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัส
  • 30 ล้านโดสของบริษัท BioNtech และ Pfizer ที่ฉีดส่วนหนึ่งของรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า และ
  • 60 ล้านโดสของบริษัท Valneva ที่ฉีดของไวรัสโคโรน่าที่ตายแล้ว (inactivated coronavirus)

Kate Bingham ประธานของ UK Vaccine Taskforce บอกกับ BBC ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่คือการระบุหาวัคซีนที่มีที่พิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยและมีแนวโน้มว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้มากสุด ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่ตัวเดียว ด้วยกลุ่มคนที่ต่างกัน วัคซีนที่ใช้อาจต้องมีความแตกต่างกัน

ที่มา : BBC
รูปจาก : freepik

นักเขียนหน้าใหม่ ผู้หลงไหลในเรื่อง แมว หมี เทคโนโลยี และ โลกของไอที :)