ชาวมาเลเซียสับสน หากจะอัพโหลดวิดีโอขึ้นโซเชียลมีเดีย จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตกว่า 3 แสนบาท?!

หากคุณมีไอเดียจะเปิดช่อง YouTube เพื่อพูดถึงภาพยนตร์ เกม ทำอาหาร vlog ต่างๆ หรือทำเพจลงวิดีโอสอนทำอาหารบน Facebook ล่ะก็ … ลุยเลย !

แต่ถ้าคุณเป็นคนมาเลเซีย คุณอาจต้องคิดทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะในมาเลเซียมีกฎหมายที่คุณต้องได้รับใบอนุญาตจาก Malaysia National Film Development Corporation หรือ FINAS ถึงจะสามารถอัพโหลดคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอขึ้นทางออนไลน์ได้

โดยนาย Saifuddin Abdullah รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและสื่อมัลติมีเดียกล่าวเอาไว้เมื่อ 23 กรกฎาคมว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์จะต้องยื่นขอใบอนุญาตการผลิตภาพยนตร์และใบรับรองการถ่ายทำภาพยนตร์ (Film Production License and Film Shooting Certificate หรือ SPP) ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเอเจนซี่ของสื่อหลัก หรือสื่อส่วนบุคคลที่ผลิตภาพยนตร์ลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือช่องทางอื่น

นอกจากนั้น สื่อ The Malay Mail ยังรายงานว่า FINAS ระบุว่าผู้ผลิตจะต้องแจ้งก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 7 วันก่อนวันถ่ายทำ มีค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต 50,000 ริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 373,200 บาท

ต้องทำถึงขนาดนี้เลยเหรอ?

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าเขาเพียงแค่ต้องการถ่ายลูกสาวตัวน้อยของเขาร้องเพลง Let It Go ของภาพยนตร์การ์ตูน Frozen ถึงกับต้องยื่นขอใบอนุญาตล่วงหน้าถึง 7 วันเลยเหรอ?

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัย เนื่องจากนาย Saifuddin Abdullah ใช้คำว่า “personal media” หรือสื่อส่วนบุคคล ซึ่งน่าจะหมายรวมผู้ที่ถ่ายวิดีโอแล้วโพสต์วิดีโอนั้นๆ ขึ้นออนไลน์ และอีกอย่าง คำว่า media หรือ สื่อ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความ

อย่างไรก็ตาม นาย Saifuddin Abdullah ได้อ้างอิงมาจาก พรบ. ขององค์การพัฒนาภาพยนตร์แห่งชาติ (National FIlm Development Corporation) ฉบับที่ 1982 มาตรา 22(1) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีบุคคลใดมีส่วนร่วมในกิจกรรมการผลิต จัดจำหน่ายและจัดแสดงภาพยนตร์ หรือกิจกรรมใดๆ ที่ได้ระบุเอาไว้ในมาตรา 21(1) เว้นแต่มีการออกใบอนุญาตให้ทำเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ได้รับอนุญาตถ่ายทำควรแจ้งให้หน่วยงาน FINAS ทราบล่วงหน้าไม่ช้ากว่า 7 วันก่อนที่ภาพยนตร์จะเริ่มถ่ายทำ ตามที่กำหนดภายใต้เงื่อนไขเพิ่มเติมของการผลิตภาพยนตร์ภายใต้ข้อบังคับที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติ 2526 เงื่อนไข (1)

Abdullah กล่าวว่าต้องมีการยื่นแบบฟอร์มเข้ามา แล้วทาง FINAS จะพิจารณาออกใบ SPP ให้

เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปยังไง?

คำตอบคือ Al Jazeera โดย 101 East ของสื่อ Al Jazeera ได้ปล่อยสารคดีที่มีชื่อว่า Locked Up in Malaysia’s Lockdown ออกไปโดยสารคดีดังกล่างถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเน้นการเล่าเรื่องที่พูดถึงการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและแรงงานต่างชาติในช่วงมาตรการควบคุมการเดินทาง (Movement Control Order หรือ MCO​) ที่เริ่มไปเมื่อ 18 มีนาคม 2020 โดยทางรัฐบาลมาเลเซียมองว่าสารคดีดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง และทางตำรวจยังได้สอบสวนนักข่าวของสื่อ Al Jazeera เกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังระบุอีกว่าสารคดีตัวนี้ของ Al Jazeera ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตจาก FINAS

แต่ทางด้าน Giles Trendle กรรมการผู้จัดการของ Al Jazeera English พูดถึงคำจำกัดความของ FINAS โดยกล่าวว่า สารคดี (documentary) นั้นไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่ของภาพยนตร์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต

มันยิ่งทำให้คนมาเลเซียสับสน และไม่พอใจมากขึ้นกว่าเดิม

เพื่อลดความสับสน นาย Saifuddin Abdullah จึงออกแถลงการผ่าน Facebook ว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่มีความตั้งใจที่จะให้ผู้คนยื่นขอใบอนุญาตในการอัพโหลดวิดีโอขึ้นโซเชียลมีเดียร์แต่อย่างใด เขาเพียงแต่ตอบคำถามที่ถามโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Wong Shu Qi ที่สอบถามว่าผู้ผลิตภาพยนตร์จำเป็นต้องขอใบอนุญาตก่อนจะผลิคภาพยนตร์ของพวกเขาลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและสื่อทั่วไปหรือไม่ และเขาได้กล่าวว่าสิ่งที่สื่อต่างๆ สื่อออกเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นไม่ถูกต้อง

เขาได้ตอบคำถามดังกล่าวไปว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันอย่าง พระราชบัญญัติองค์การพัฒนาภาพยนตร์แห่งชาติ ฉบับที่ 1981 (พระราชบัญญัติ 244) ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาในปี 1981 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้และใช้งานโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่ง ณ เวลานั้นที่บัญญัติกฎหมายยังไม่มีสื่ออนไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดียร์ใดถือกำเนิดขึ้น ทั้งนี้ทางกระทรวงกำลังประเมินกฎหมาย พร้อมความเป็นไปได้ที่จะเปิดรับข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป

ข้อมูลจาก Mashable

นักเขียนหน้าใหม่ ผู้หลงไหลในเรื่อง แมว หมี เทคโนโลยี และ โลกของไอที :)