TCELS ขับเคลื่อนโครงการ Life Sci. Level Up Challenge 2020 เปิดเวทีสตาร์ทอัพผลักดันสู่ตลาดโลก

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) จับมือร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ เปิดตัวโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020”

ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 – 12.00 น. เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มบริษัท Startup และนักวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ และร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “Life Sci. Startup : โอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ในการเติบโต” โดยกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ พร้อมเปิดตัว 27 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึกกับวิทยากรชื่อดังที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ จำนวน 30 ชั่วโมง ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2563

โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และร่วมพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท โดยหลังแถลงข่าว มีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ Life Sci. Startup โอกาส ความท้าทาย และความเป็นไปได้ในการเติบโต โดย คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ สื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ, คุณพงศ์ปิติ เอกเธียรชัย ผู้อำนวยการงานส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนและวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, เภสัชกรหญิง วรสุดา ยูงทอง ผอ.กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นฯ และ ว่าที่ร้อยเอก ภก.ดร.วฤษฎิ์ อินทร์มา ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน)  

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “ทีเซลส์ให้การสนับสนุนและผลักดันโครงการ “Life Sci. Level Up Challenge 2020” กิจกรรมส่งเสริมและบ่มเพาะกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพรายใหม่ 2020 มาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences Technology) ให้มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและสากล อีกทั้งยังเป็นการขยายการค้า การลงทุน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการตลาดในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาส่วนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ยังมีจุดอ่อน หรือต้องการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเติมเต็มศักยภาพของทีมตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากเดิม”

“ความโดดเด่นของกิจกรรมนี้ คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพให้กับทั้งกลุ่มนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นไบโอเทค, ฟาร์มาซูติคอล, เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices), การวินิจฉัยโรค (Diagnostics), เครื่องสำอาง-อาหารเสริม และ Digital Health IT    เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสริมความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ ด้านการตลาด ด้านกฎหมายเฉพาะ         โดยนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ร่วมกับกลไกลการวิเคราะห์แผนการดำเนินธุรกิจจากกลุ่มเมนเทอร์ในสาขาความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง” 

ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติม “ในปีนี้มีนักวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพ สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 47 ทีม และผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 27 ทีม ซึ่งหลังจากนี้ ทางโครงการจะวิเคราะห์ศักยภาพของทีม เพื่อวางแผนพัฒนาเฉพาะจุดให้กับทีมที่ผ่านการคัดเลือก และทั้งหมดยังได้รับการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในระยะแรก จำนวน 12 ชั่วโมง จากนั้น จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเฉพาะกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ในแต่ละกลุ่ม ในระยะที่สอง จำนวน 12 ชั่วโมง และในระยะที่สาม จะเป็นการพัฒนาตามความต้องการของแต่ละทีมในประเด็นต่างๆ ที่เน้นการแก้จุดด้อย เสริมจุดเด่น จำนวนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง จากนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีประสบการณ์ อาทิ คุณธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย,            ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์, คุณปฐมพงษ์ เล็กสมบูรณ์ และคุณไกรวิน วัฒนะรัตน์ เป็นต้น”

 “เมื่อทุกทีมได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้ว จะมีการจัดประกวดแผนธุรกิจที่แต่ละทีมสร้างขึ้น ระหว่างดำเนินกิจกรรมในงาน “Demo Day: Life Sci. Level Up Challenge 2020” ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดแผนธุรกิจ 5 ทีมสุดท้าย จะพิชิตโอกาสทางธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท ซึ่งเชื่อมั่นว่า ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ จากการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทางการแพทย์และสุขภาพต่อไป” ดร.นเรศ กล่าวปิดท้าย

  • คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://lifescilevelup2020.com
  • Line: LifeSciLevelup2020 
  • Facebook: LifeSciLevelup2020
  • IG: LifeSciLevelup2020 
  • สอบถามรายละเอียด : 02 259 5511 / 097 969 5924