Microsoft ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ DEEP (Digital Education Excellence Platform) รวบรวมหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ของประเทศ ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาภาคการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ โดยไมโครซอฟท์ได้รับเกียรติในการจัดสรรเนื้อหาและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์บน Microsoft Office 365 สำหรับการศึกษา เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาและเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลแก่นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษากว่า 10 ล้านคน
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การเกิดโควิด-19 ก่อให้เกิดการกระตุ้นที่จะนำดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานในทุกวงการอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงภาคการศึกษาด้วย ในส่วนของกระบวนการนำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ทางด้านการศึกษานั้น เรามองใน 4 มิติ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้หรือผู้เรียน การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการดำเนินงาน การเพิ่มศักยภาพให้บุคลากร และการเสริมเนื้อหาใหม่ๆ ให้กับการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อระบบถูกเร่งให้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างต้องเดินหน้าผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกันไปตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากร อาจารย์ นักเรียน ระบบและหลักสูตรต่างๆ จนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เพื่อให้ระบบการศึกษามีความต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์และทั่วถึง และเมื่อเราต้องเดินหน้าต่อ การศึกษาแบบผสมผสานหรือไฮบริดนั้น จะเข้ามาสอดรับกับแนวทางต่อจากนี้ได้เป็นอย่างดี”
“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ของกระทรวงศึกษาจะเป็นรากฐานที่ดีให้กับการศึกษาไทยตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงอนาคต ด้วยเป้าหมายที่ไม่เพียงแต่จะสร้างวิถีใหม่ของการศึกษาแต่ยังสามารถดำรงเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาทักษะและสร้างการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั่วประเทศ ทั้งยังเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในทิศทางที่ถูกต้องตามที่กำหนด ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ โรงเรียนและระบบการศึกษาคงต้องมุ่งแสวงหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อศาสตร์แห่งการสอนจากอาจารย์มาจับคู่กับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนเฉพาะเพื่อการศึกษาแบบผสมผสาน จะสามารถเข้ามาขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาอันเป็นเลิศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเติมเต็มประสบการณ์ด้านการศึกษาให้แก่ครูและนักเรียนได้ดีที่สุด” นายปวิชกล่าวเสริม
นายเอเดน แม็คคาร์ธี หัวหน้านักออกแบบโซลูชั่นเพื่อการศึกษาระดับโลก ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “การปฎิรูปด้วยดิจิทัล คือ การผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับ ผู้คน ข้อมูล การยืนยันตัวตน และกระบวนการ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และผู้ดูแลหลักสูตรการศึกษาได้รับประโยชน์จากดิจิทัล และสามารถนำมาปรับใช้กับนวัตกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงการหาวิถีใหม่แห่งการศึกษาและการนำมาปรับใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยในครั้งนี้ ทั้งยังพร้อมด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริงในการปฏิรูปการศึกษาด้วยดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการศึกษาในประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกแห่งวงการการศึกษาต่อไปในอนาคต ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเป็นผู้นำ เทคโนโลยี ประสบการณ์ และกำลังคน เข้ามาช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนแนวทางใหม่ด้านการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไปได้”
จากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในโลกศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลเร็วขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายในการผนึกกำลังร่วมมือกับทั้งภาคเอกชนและภาคสังคมในการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อสร้างกลไลขับเคลื่อนการศึกษาปฏิรูปสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนและครูกว่า 10 ล้านคนของประเทศสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกที่หลากหลายในการเรียนรู้ ให้ทั้ง “ครูเก่ง นักเรียนเก่ง” เพื่อสร้างทุนมนุษย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “DEEP ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมของระบบการศึกษา สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีหลักสูตรต่างๆ รองรับ โดยผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อเรียนตามสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษา ที่สำคัญจะเป็นการตอบโจทย์สมรรถนะของบุคลากรที่ภาคเอกชนหรือตลาดต้องการ โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนเพื่อการเพิ่มทักษะของตนเอง (Re-skill) ได้เช่นกัน เพราะ DEEP เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
“เราต้องการสร้างทุนมนุษย์ ดังนั้น การศึกษามีเป้าหมายสำคัญในการที่จะสร้างให้คนไทยทุกคนประสบความสำเร็จในอาชีพที่เขาต้องการ ถ้าหากเราสามารถทำแบบนี้ได้ เราก็จะมีคนที่มีความสามารถทั่วทั้งประเทศ เราต้องมาร่วมกันสร้างการศึกษายกกำลังสอง การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละคน เพราะถือว่าอนาคตของเด็กไทย คืออนาคตของประเทศชาติ” นายณัฏฐพลกล่าวสรุป
ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นในการเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรในโลกใบนี้ให้ประสบผลสำเร็จที่ดีกว่า ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย เพื่อช่วยยกระดับและร่วมปฏิรูปการศึกษาตามแผนงานของประเทศในการขับเคลื่อนการศึกษายกกำลังสอง ช่วยให้ระบบการศึกษามีความคล่องตัว ให้ครูอาจารย์ได้ใช้เวลาทุ่มเทอยู่กับลูกศิษย์มากกว่างานเอกสาร เพื่อปรับตัวทันบริบทในทศวรรษที่ 21 โดยไมโครซอฟท์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ DEEP ด้วยการให้บริการแพลตฟอร์มและหลักสูตรการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือกับผู้พัฒนาเนื้อหาที่สร้างประโยชน์แก่ภาคการศึกษาไทย เพื่อมอบทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลายแก่บุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน
ไมโครซอฟท์ยังได้สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในโครงการศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center หรือ HCEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางด้านอาชีพ อุตสาหกรรม และธุรกิจ โดยไมโครซอฟท์ได้ใช้แพลตฟอร์ม Microsoft 365 และ Microsoft Teams ในการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะความรู้ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับโลกแก่อาจารย์ 400,000 คน
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยพณิชยการบางนาในการนำร่องโครงการ ฝึกอบรมทักษะวิชาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันแก่อาจารย์ (Train-the-trainer) ในรูปแบบของ Microsoft Innovative Expert (MIE) เพื่ออาจารย์จะสามารถนำทักษะและความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ โดยมีเป้าหมายครอบคลุมนักเรียนอาชีวะจำนวนกว่า 1,000,000 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของนักศึกษาอาชีวะแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศในการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S Curve) และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ทั้งนี้ มีอาจารย์กว่า 100,000 คนได้รับการฝึกอบรมด้วยหลักสูตรออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา