ESRI แนะใช้ Retail Solution แนะธุรกิจค้าปลีกยุค New Normal รีบปรับตัวใช้เทคโนโลยี ชู Retail Solution เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจค้าปลีก ด้วยซอฟต์แวร์ ArcGIS ดึง 2 โซลูชันหลัก “Market Planning and Site Analysis” ช่วยวิเคราะห์พื้นที่ให้บริการ ขอบเขตพื้นที่การขาย เทียบจากตำแหน่งของสาขาหรือจุดให้บริการ พบปัจจุบันธุรกิจค้าปลีก อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ แฟรนไชส์ เริ่มปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภค
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี เผยว่าสภาวะเศรษฐกิจแปรผันในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2563 ชี้ตัวเลขดัชนีค้าปลีกลดลง 13.7% ในช่วงครึ่งปีแรก และไตรมาสที่สองหดตัวประมาณ 24.7% จากปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการคาดการณ์จากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่าธุรกิจโดยรวมในไตรมาสหนึ่งลดลงกว่า 3-7% และในไตรมาสสองจะเห็นการเติบโตติดลบมากถึง 20-50% โดยคาดว่าจะพลิกฟื้นกลับมาจุดเดิมต้องใช้เวลา 8-24 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ
“ธุรกิจค้าปลีกมีการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ “Data & Asset” ในการสร้างรายได้และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ จากผลวิจัยของ Forrester ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยมีความพร้อมเพียง 5% และกว่า 91% ของค้าปลีกไทย ยังขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี บุคลากร และกระบวนการนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามาใช้สร้างรายได้ใหม่ ๆ ซึ่งการใช้งาน Retail Solution ผ่านเทคโนโลยี GIS ที่นำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ผ่านซอฟต์แวร์ ArcGIS ช่วยเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน และแสดงข้อมูลคาดการณ์อนาคต จะเป็นเครื่องมือสำคัญในอุตสาหกรรมค้าปลีก เหมาะสำหรับการวิเคราะห์ที่ตั้งสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันและการขยายสาขาในอนาคต ดูแนวโน้มพฤติกรรมและพื้นที่กระจุกตัวของผู้บริโภค จัดการเส้นทางขนส่ง ตอบโจทย์ธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกในประเทศ” นางสาวธนพร กล่าว
ESRI Retail Solution เพื่อการวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 โซลูชัน
1. Market Planning and Site Analysis วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย โดยการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ (Target Customer) เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน แสดงผลบนแผนที่ตามค่าความหนาแน่นของจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลตำแหน่งที่สนใจ (Evaluate Sites) เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจำนวนประชากร หรือสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อยอดขายของสาขา เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ ยังเสนอการวิเคราะห์ทำเลศักยภาพของที่ตั้งสาขา (Suitability Analysis) จากปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพของพื้นที่ ทั้งปัจจัยเชิงบวก เช่น ตำแหน่งลูกค้า สถานีรถไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย หรือปัจจัยเชิงลบ เช่น ตำแหน่งคู่แข่ง ตำแหน่งพื้นที่กำจัดขยะ เพิ่มศักยภาพในการเลือกพื้นที่ที่เหมาะกับการตั้งสาขา รวมถึงการปรับ-รวม-ย้ายสาขาไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการหาข้อมูลและการสำรวจ
2. Trade Area and Zone Planning วิเคราะห์พื้นที่ให้บริการจากตำแหน่งสาขาหรือจุดให้บริการ เช่น การกำหนดขอบเขตการให้บริการตามระยะเวลา ทำให้เห็นภาพพื้นที่ที่ครอบคลุม หรือพื้นที่ทับซ้อนกินพื้นที่กันเอง (Cannibalization) ซึ่งส่งผลกับยอดขายของธุรกิจ การวิเคราะห์โดยกำหนดตัวแปรจากเกณฑ์ยอดขาย (Threshold) เพื่อให้เห็นขนาดพื้นที่ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มตำแหน่งสาขา รูปแบบการให้บริการ หรือเพิ่มบริการ delivery รวมถึงการเลือกตำแหน่งจุดกระจายสินค้าที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ตอบโจทย์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการวิเคราะห์ขอบเขตพื้นที่การขาย (Territory Design) สามารถกำหนดเงื่อนไขตามปัจจัยที่ต้องการ ช่วยให้ฝ่ายขายแบ่งพื้นที่การขายได้อย่างชัดเจน ลดการทับซ้อนของพื้นที่ปฏิบัติงาน เสริมประสิทธิภาพการขายนำมาซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซโตสวนกระแส จากผลสำรวจของ Priceza เผยตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% จากปีก่อนหน้าและยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ด้านธุรกิจค้าปลีกก็เริ่มปรับกลยุทธ์เพิ่มการขายสินค้าออนไลน์ เพิ่มบริการในรูปแบบ Delivery และบริหารจุดกระจายสินค้าที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้นและลดต้นทุนค่าขนส่ง บริหารสต็อคสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ปรับจำนวนคนทำงานหรือย้ายไปยังตำแหน่งที่ตั้งที่ดีกว่า ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพิ่มจุดให้บริการ self-service ให้ตรงกับความต้องการของแต่ละสาขา ตามเทรนด์ลูกค้าที่ปรับมาใช้รูปแบบการให้บริการตัวเองมากขึ้น จะเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกต้องมีการปรับตัว เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากโซลูชันวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลไม่ว่าจะเป็น สาขา ลูกค้า หรือแม้กระทั่งคู่แข่ง และการมองภาพรวมของสาขาที่มีอยู่และรูปแบบการให้บริการของแต่ละสาขามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจก้าวทันความต้องการของลูกค้า และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นางสาวธนพร กล่าวทิ้งท้าย