ไปรษณีย์ไทย เดินหน้าสนับสนุนกระแสรักษ์โลกเตรียมนำ จักรยานยนต์ไฟฟ้า นำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการศึกษาวิจัยการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษให้กับประเทศ
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเดินทางและการคมนาคมขนส่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานด้านการสื่อสารของไทย ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ใช้เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการนำพลังงานสะอาดใช้งานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อลดมลพิษ
ไปรษณีย์ไทย ได้นำ จักรยานยนต์ไฟฟ้า เข้ามาใช้ในการนำจ่ายสิ่งของ ซึ่งเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมได้ด้วยระบบดิจิทัล มีระบบรักษาความปลอดภัยในการขับขี่ สามารถขับขี่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางถึง 120 กิโลเมตรต่อการชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง จากการทดสอบใช้งานพบว่า รถจักรยานยนต์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการนำจ่ายสิ่งของในระดับดี อีกทั้งยังผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ นำร่องใช้งานแล้ว ณ ไปรษณีย์หลักสี่ และไปรษณีย์ธัญบุรี พร้อมยังมีแผนเพิ่มจำนวนการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในการนำยานยนต์ไฟฟ้าทดสอบใช้งานนำจ่ายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสะอาดและยั่งยืน
นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทย อยู่ระหว่างดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในความร่วมมือศึกษาวิจัยประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าโซลาร์ รูฟ ในการนำร่องนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้า
ซึ่งที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยยังร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ศึกษาการบริหารจัดการพลังงานด้วยระบบดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อนำพลังงานสะอาดมาใช้ภายในอาคารสำนักงาน ศูนย์ไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์อีกด้วย รวมถึงการศึกษาและทดสอบการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า – รถยนต์บรรทุกไฟฟ้าสำหรับขนส่งในกิจการของไปรษณีย์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับผู้ใช้บริการและสังคมไทย นายก่อกิจ กล่าวสรุป