สถานการณ์ล่าสุดของการแข่งขันกันเรื่องเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดูเหมือนฝั่งจีนจะถูกสหรัฐฯ บีบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดให้ซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ ทั้งหมดต้องยื่นขอใบอนุญาตในการขายเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของจีน อย่าง Semiconductor Manufacturing International Corp. หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อของ SMIC
หากดูจากสิ่งที่สหรัฐฯทำมาอย่างต่อเนื่องก็คิดได้ว่าเป้าหมายของสหรัฐฯนั้นชัดเจนมากที่จะคอยติดตามความคืบหน้าและความก้าวหน้าเทคโนโลยีโดยรวมของจีน โดยเฉพาะเรื่องของชิปเซ็ตและเซมิคอนดักเตอร์
ดูเหมือนอุตสาหกรรมการผลิตชิปในประเทศจีนจะอยู่ในขั้นวิกฤตด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้
ประการแรก ยิ่งชิปมีขนาดเล็กลงเท่าไหร่ (ตั้งแต่ 28 นาโนเมตรไปจนถึง 3 นาโนเมตร) ความซับซ้อนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกระบวนการผลิตจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งทาง SMIC ที่โรงงานตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตชิปขนาด 14 นาโนเมตรในปีนี้ และจะเร่งทำการวิจัยกระบวนการผลิต 7 นาโนเมตร ดังนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ทาง SMIC จะดำเนินการตามกระบวนการผลิตขั้นสูงได้ทันทีในตอนนี้ หมายรวมถึงการผลิตชิป 14 นาโนเมตรและ 7 นาโนเมตร เนื่องจากซัพพลายเออร์ฝั่งอเมริกาที่เอาไว้พึ่งพาเรื่องการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนสำคัญๆ ต่างถูกแบบห้ามไม่ให้ติดต่อธุรกิจกับทาง SMIC
ประการที่สอง ข้อกำหนดการขอใบอนุญาตใหม่ของวอชิงตัน ได้ปัดความหวังสุดท้ายที่ริบหรี่ของ Huawei Technologies ในการผลิตชิปที่ออกแบบเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง SMIC ยังถูกห้ามไม่ให้ทำงานร่วมกับ Huawei ภายใต้ข้อกำหนดการห้ามขายส่วนประกอบใดๆ ที่มีเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกากับทาง Huawei อย่างไรก็ตาม ความหวังก็ยังไม่หมดไปซะทีเดียว ถ้าหาก SMIC สามารถควบคุมกระบวนการผลิต 14 นาโนเมตรและ 7 นาโมเมตรได้สำเร็จ นี่ถือเป็นทางออกที่เหลืออยู่ไม่มากจากการถูกทางการสหรัฐฯแบน โดยทาง SMIC ยังคงผลิตชิปให้กับ Huawei ได้
ประการสุดท้าย ช้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตส่งผลให้ความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนนั้นช้าลง ทั้งนี้โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือโรงหล่อ เปรียบเสมือนที่ยึดเหนี่ยวที่เอาไว้รองรับอุปกรณ์ , วัสดุ , ซอฟต์แวร์การออกแบบ , การออกแบบผังแบบวงจรรวม และผู้ใช้งานปลายทางที่ประกอบกันเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด หาก SMIC ไม่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้ตามที่ต้องการ กลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวงจร/ห่วงโซ่ก็จะไม่ทำงานได้เช่นกัน โดยโรงหล่อที่ใหญ่ที่สุดแห่งต่อไปของจีนคือ Shanghai Hua Hong Group ซึ่งมีขนาดครึ่งหนึ่งของ SMIC และอยู่มาแล้วกว่าสองชั่วอายุคน
เนื่องจากขอบเขตการครองตลาดของอเมริกา รวมถึงความเหนือชั้นกว่าของเทคโนโลยีชิป ทำให้การปิดกั้นจีนของทางการสหรัฐฯนั้นดูเหมือนจะทำได้อย่างเบ็ดเสร็จและปลอดภัย คาดว่าเป้าหมายสุดท้ายของทีมบริหารของทรัมป์คือความต้องการให้ประเทศจีนนั้นมีการพึ่งพาชิปของสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงเป็นตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในแง่ของการบริโภคและใช้งาน หลังจากที่ Intel และ AMD ได้รับใบอนุญาตในการจัดหาชิปให้กับ Huawei ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ขายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว คาดว่ารายต่อไปที่จะได้ใบอนุญาตอาจเป็น Qualcomm หากดูโดยภาพรวมแล้ว ทั้งการแบนเรื่องการส่งออกและโครงสร้างการขึ้นบัญชีดำ Entity List ดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตชิปฝั่งอเมริกาเข้าไปครองตลาดในประเทศจีนได้อย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน ดูเหมือนทางบริษัทจากประเทศจีนเองก็ยินดีที่จะซื้อชิปจากทางสหรัฐฯต่อไปก่อน แต่ไม่ถึงกับยินดีจะซื้อไปตลอด เพราะจากแรงกดดัน และการบีบคั้นของทางการสหรัฐฯเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้จีนอยากประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตชิปได้ภายในประเทศ ถ้าหากวันนั้นมาถึงจีนจะเปลี่ยนจากที่เคยนำเข้าชิปไปสู่การผลิตเองใช้ในประเทศ
ทั้งนี้ มีความต้องการแบบเร่งด่วนสำหรับการผลิตชิปทดแทนเพื่อใช้เองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ มีรายงานว่า Huawei สร้างสายการผลิตของตัวเองโดยไม่มีเทคโนโลยีของสหรัฐฯ คาดว่าสายการผลิตที่เป็นกระบวนการผลิตขนาด 45 นาโนเมตรจะพร้อมใช้งานภายในสิ้นปีนี้ และสายการผลิต 28 นาโนเมตรจะเริ่มใช้งานได้ในปีหน้า ซึ่ง Huawei จะยังคงพัฒนากระบวนการผลิตชิปของตัวเองให้ก้าวหน้าและพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทางฝั่งผู้ลงทุนเองต่างก็เดิมพันอย่างหนักในบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน เช่น บริษัทที่จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และซอร์ฟแวร์ มีข้อตกลงในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 200% (เมื่อเปรียบเทียบแบบรายปี) มียอดถึง 6 หมื่นล้านหยวนภายในเวลา 7 เดือนแรกของปี 2020 คาดว่าจะเพิ่งขึ้นไปถึง 1 แสนล้านหยวนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของปีที่แล้ว นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ความกระตือรือร้นของภาคเอกชนที่ไม่เคยมีมาก่อน
ด้วยแรงกระตุ้นจากการถูกกีดกัน เงิน ความสามารถ และการมีตลาดชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากจีนสามารถสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมชิปภายในประเทศของตัวเองได้สำเร็จเมื่อใด นั่นหมายถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของทางฝั่งสหรัฐฯจะเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ในระยะสั้น แต่สหรัฐอเมริกาก็ควรตระหนักถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วย
ความเห็นของทีมงานล้ำหน้าโชว์
หากมองโลกในแง่ดี การที่ทางการสหรัฐฯภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบีบคั้นทางการจีน ถือเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้อุตสาหกรรมจีนนั้นเติบโตและยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเองได้อย่างในอนาคต ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีจีนอย่างนายสี จิ้นผิงเองยังไม่เคยทำได้มาก่อน ถ้าจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาและสามารถผลิตชิปไว้ใช้งานเองได้แล้วภายในประเทศ มันจะช่วยลดการสั่งซื้อและนำเข้าชิปจากต่างประเทศได้เยอะมาก
ที่มา : NIKKEI ASIA