facebook

Boost with Facebook สนับสนุนผู้ประกอบการ เปิดตัวคู่มือ ช่วย SME ฟื้นตัวร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

โครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล ‘Boost with Facebook’ สนับสนุนผู้ประกอบการจากชุมชนชายขอบทั่วไทย พร้อมเปิดตัวคู่มือพลิกสถานการณ์ ช่วย SME ฟื้นตัวร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย 

Facebook ประเทศไทย ได้จัดงาน ‘Leading with Inclusion’ เพื่ออัพเดทความคืบหน้าของโครงการBoost with Facebook กับวิสัยทัศน์ก้าวนำด้านดิจิทัลด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนจากทุกภาคส่วน ในช่วงใกล้สิ้นปี ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ล่าสุดของโครงการฝึกอบรมBoost with Facebook ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ยังรวมถึงการประกาศเปิดตัวคู่มือพลิกสถานการณ์เสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อมที่ถูกจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ Facebook ประเทศไทย ในการสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โครงการBoost with Facebook ได้เสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการชาวไทย เพื่อช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจของพวกเขา โดยช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ภายใต้โครงการของ Facebook ซึ่งเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถเข้าถึงคนไทยกว่า 2.3 ล้านคน นอกจากกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยและบุคคลทั่วไปแล้ว Facebook ยังได้ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และพันธมิตรชุมชนต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดฝึกอบรมของโครงการสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการที่มาจากชุมชนชายขอบที่มีความสำคัญ เพื่อมอบโอกาสในการสนับสนุนการเติบโตเชิงเศรษฐกิจแก่ชุมชนที่มีความหลากหลาย

ความร่วมมือดังกล่าวทำให้โครงการประสบความสำเร็จในการจัดฝึกอบรมให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจากกลุ่มชุมชนชายขอบในประเทศไทย 2,183 ราย ผ่านการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออฟไลน์ 19 ครั้งและออนไลน์ 27 ครั้ง โดยร้อยละ 60 ของผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้ประกอบการหญิง และร้อยละ 38 มาจากชุมชนชายขอบที่มีความสำคัญ เช่น กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQI) กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

คุณเบธ แอน ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายโครงการเพื่อชุมชน ประจำ Facebook เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นว่า “ในขณะที่ธุรกิจในประเทศไทยกำลังปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาวะนิวนอร์มอล เรายังคงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือธุรกิจเหล่านั้นในการฟื้นตัว และต้องทำให้แน่ใจว่าความพยายามของเราจะเข้าถึงคนทุกกลุ่มโดยไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถ เพศวิถี และภูมิหลังด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร จากการดำเนินโครงการนี้ เราคาดหวังที่จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมเพื่อช่วยลดปัญหาช่องว่างทางทักษะ ด้วยการให้ความรู้ เสริมสร้างทักษะ และสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย และชุมชนที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่วยเสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราทุกคนกำลังก้าวผ่านผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ระดับโลกในครั้งนี้”

คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้ร่วมมือกับ Facebook เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมและผู้ประกอบการชาวไทย ด้วยทักษะและความเข้าใจที่มีต่อความรู้ด้านดิจิทัลที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชน เราได้มองเห็นถึงการเติบโตของผู้ที่เข้าร่วมโครงการจากคะแนนหลังการฝึกอบรมของพวกเขา และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานจริง เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยจำนวนมากมีศักยภาพในการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาเพียงต้องการโอกาสในการเรียนรู้เท่านั้น”

ภายในงานครั้งนี้ ยังเล่าถึงกรณีศึกษาและตัวอย่างจากในไทยเกี่ยวกับวิธีการที่ธุรกิจต่างๆ กระตุ้นยอดขายและเชื่อมต่อกับลูกค้าใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล คุณมานพ เอี่ยมสะอาด รองประธานบริหาร บริษัทเรย์วิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด องค์กรเพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้มีทางเลือกที่เปิดกว้างพร้อมด้วยศักยภาพในการดำเนินชีวิตอย่างที่ต้องการได้มากขึ้น ได้กล่าวเน้นว่า “สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนทั่วไปได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างมากขึ้น อย่างบริษัทต่างๆ ที่เคยมีการจ้างงานผู้พิการตามอัตราโควต้า 1:100 พอบริษัทต้องปลดพนักงานทั่วไปออกเป็นหมื่นๆ คน โอกาสของการจ้างงานคนพิการก็ยิ่งน้อยลงอีก ปัญหาสำคัญที่เรามองเห็นคือความท้าทายสำหรับชุมชนผู้พิการที่จะผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่นๆ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป การที่ได้มาร่วมอบรมในโครงการนี้ ทำให้เขามีโอกาส เรียนรู้เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เราเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น ภายในกลุ่มของเรา มีสมาชิกที่เริ่มมีอาชีพส่วนตัวหันมาขายของออนไลน์มากขึ้น หรืออย่างน้อยพวกเขาเริ่มเรียนรู้การใช้งาน เครื่องมือต่างๆ ของ Facebook และเป็นการเปิดช่องทางให้เขามีพื้นที่ได้แสดงออกหรือสื่อสารประสบการณ์ ของพวกเขา ทำให้รู้สึกมีคุณค่า หรือมีอิสระในการหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองมากขึ้น”

นอกจากนี้ ร้านอาหาร อาม่า ติ่มซำ ยังได้เล่าถึงการเข้าร่วมการฝึกอบรมของโครงการ Boost with Facebook ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อผู้ที่มีความบกพร่องด้านการได้ยินโดยเฉพาะ โดยเป็นครั้งแรกที่การฝึกอบรมเช่นนี้ถูกจัดขึ้นพร้อมล่ามภาษามือ สำหรับกลุ่มสิชลมัดย้อม โครงการ Boost with Facebook ได้ช่วยให้กลุ่มผู้พิการสามารถเพิ่มทักษะดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อจำหน่ายและโปรโมทงานหัตถกรรมของพวกเขา ด้วยการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ๆ ให้เดินทางมาเยี่ยมชมหน้าร้านของพวกเขาในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ธุรกิจเอสเอ็มอี La’Poon Organic ซึ่งก่อตั้งขึ้นในจังหวัดลำพูน ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นมาจากคุณอรุณี พร้อมชัย ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรออร์แกนิค ด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรท้องถิ่น และ Facebook ได้ช่วยให้ธุรกิจของเธอเติบโตขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น ปัจจุบัน เธอจ้างพนักงานทั้งหมด 11 คน และยังมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชนของเธอด้วย

หลังจากเข้าร่วมโครงการ คุณอรุณี ซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ได้พบว่าความรู้เชิงดิจิทัลที่เธอได้รับ ไม่เพียงทำให้เธอสามารถสร้างบทบาทบนโลกออนไลน์ให้กับธุรกิจของเธอได้สำเร็จ แต่ยังช่วยให้เธอเชื่อมต่อกับชุมชนใหม่ๆ ได้อีกด้วย โดยคุณอรุณีกล่าวว่า “ฉันเพิ่งเคยได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศพม่า หลังจากที่ฉันเริ่มปรับปรุงการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของฉัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมการฝึกอบรมของโครงการ Boost with Facebook ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา”

คู่มือพลิกสถานการณ์เสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อมจากสถานการณ์โควิด-19 โดย Facebook ประเทศไทย และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

ความสามารถในการฟื้นตัวเป็นทักษะที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่างพยายามที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบที่ได้รับอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ต่อธุรกิจของพวกเขา

รายงานสภาวะธุรกิจขนาดเล็กในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นรายงานล่าสุดของ Facebook ที่จัดทำร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ระบุว่าร้อยละ 38 ของธุรกิจในประเทศไทยที่ดำเนินงานบน Facebook กล่าวว่าพวกเขาได้ลดจำนวนพนักงานลงในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ร้อยละ 71 ของธุรกิจบน Facebook ที่มีเจ้าของเป็นผู้ประกอบการหญิง รายงานว่ายอดขายของพวกเธอในเดือนที่ผ่านมาลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น

Facebook ประเทศไทย ยังได้เปิดตัวคู่มือพลิกสถานการณ์เสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อมสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นระยะยาวในการสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อม โดยพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อเสริมการจัดฝึกอบรมในโครงการ Boost with Facebook ศูนย์กลางทรัพยากรเพื่อธุรกิจ (Business Resource Hub) และโครงการมอบเงินทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในสภาวะนิวนอร์มอลได้

คู่มือดังกล่าว ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้ดำเนินโครงการ Global Resiliency ของ Facebook และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการจัดการภาวะวิกฤต การวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฟื้นตัวของธุรกิจ ได้แบ่งปันกลยุทธ์และสิ่งที่ควรพิจารณาที่สามารถนำมาใช้ได้กับการดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย โดยคู่มือดังกล่าวเน้นย้ำถึงโอกาสของธุรกิจในการปรับขั้นตอนการดำเนินงานของพวกเขาให้เหมาะสม และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไปที่เรียกว่า เน็กซ์ นอร์มอล และยังสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลเพื่อลดปัญหาช่องว่างต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมและรับชมคู่มือพลิกสถานการณ์เสริมสร้างศักยภาพการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดย่อมได้ที่ https://www.kenan-asia.org/re-emergence-interactive-guide

สำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวโครงการเสริมสร้างทักษะดิจิทัล Boost with Facebook และการเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆ ของ Facebook กรุณาเยี่ยมชม https://www.facebook.com/business/small-business