กว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ชำแหละวิวัฒนาการผลิตมือถือ ในยุคที่ผู้ผลิตต้องขับเคลื่อนชิ้นส่วนทางเทคโนโลยีไปพร้อมกับความยั่งยืน และทำไมต้อง “ทิ้งให้ดี” ที่ Dtac
รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือมากถึง 93.7 ล้านเบอร์ และทุก ๆ ปีจะมีโทรศัพท์มือถือใหม่จำหน่ายออกสู่ตลาดปีละประมาณ 14 ล้านเครื่อง โดยสัดส่วนราว 100,000 เครื่องต่อปี เป็นส่วนของผู้ใช้มือถือครั้งแรก และอีกประมาณ 14 ล้านเครื่องต่อปี เป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ใช้มือถือเดิม (Replacement) ทั้งนี้ ยอดขาย 14 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของประชากรไทยเลยทีเดียวถ้าเช่นนั้นแล้ว โทรศัพท์มือถือเก่าราว 14 ล้านเครื่องต่อปีที่ถูกทดแทนที่ขายออกไปใหม่ในทุกปีนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง
Dtac ขอเชิญชวนท่านมาร่วมสนทนากับกูรูด้านมือถือและการออกแบบกับ “ทิ้งให้ดี” โครงการที่ขอชวนผู้ใช้บริการมาร่วมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อนร่วมโลก
นายพีระพล ฉัตรอนันทเวช หรือ ปีเตอร์กวง ผู้อำนวยการแผนกอุปกรณ์สื่อสาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือนับเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่มีการเติบโตและมียอดขายสูงมากกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ มาก ขีดความสามารถในการใช้งานก็สูงขึ้นในทุก ๆ ปี เนื่องด้วยวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ปัจจุบันประชากรผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 130% ของประชากรไทย คือมีจำนวนเลขหมายเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกใช้มากกว่าจำนวนประชากรไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจที่บางคนมีโทรศัพท์มือถือใช้งานถึง 2 เครื่อง 2 เลขหมายด้วยกัน หรืออาจจะเป็น 1 เครื่อง 2 เลขหมายก็มี
แต่ในการเติบโตนั้น ก็มาพร้อมกับ “ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม” ที่สูงขึ้น เนื่องจากอายุการใช้งานที่ลดลงเหลือ 18-24 เดือนต่อเครื่อง ขณะที่อดีต อายุการใช้งานอยู่ที่ 24-36 เดือน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านแฟชั่นนิยมและการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีการเปลี่ยนเครื่องใหม่เร็วกว่าสมัยก่อนมาก (รุ่นที่มีราคาสูงกว่าหมื่น) ขณะที่เซ็กเมนต์ที่มีราคาต่ำกว่าหมื่นจะมีพฤติกรรมการใช้งานที่นานกว่า เน้นอรรถประโยชน์มากกว่าความสวยงาม
“ตลาดโทรศัพท์มือถือมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการแข่งขันสูงมาก แต่ละแบรนด์มีการออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ รวมกันปีละนับร้อยรุ่น ทำให้อายุของผลิตภัณฑ์ (shelf life) ของโทรศัพท์มือถือเหลืออยู่เพียง 6 เดือนจากเดิม 12 เดือน แสดงให้เห็นถึงปริมาณการบริโภคโทรศัพท์มือถือใหม่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การจัดเก็บมือถือเก่าที่ไม่ใช้แล้วยังคงถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” นายพีระพล กล่าว
ชำแหละอุปกรณ์มือถือ
ปัจจุบันตลาดโทรศัพท์มือถือจะมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ถูกนำออกสู่ตลาดปีละนับร้อยรุ่น องค์ประกอบโดยรวมของชิ้นส่วนภายในเครื่องแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่
- Main board หรือ PCB (Printed Circuit Board) เป็นส่วนประกอบหลักโทรศัพท์มือถือที่มีชิ้นส่วนหลักๆมากมายประกอบกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น CPU (หน่วยประมวลผล) ทำหน้าที่คำนวณ ประมวลผล สั่งการ คล้ายกับ “สมอง” ของโทรศัพท์มือถือ RAM/ROM (หน่วยความจำ) เพื่อเก็บข้อมูลและเป็นพื้นที่ให้ใช้ในการร่วมประมวลผลต่าง ๆ และยังมีอีกมากมายหลายชิ้นส่วน โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ผลิตจากแร่มีค่าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว เงิน แพลเลเดียม ซิลิคอน เป็นต้น โดยแร่มีค่าเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างเป็นชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในการเหนี่ยวนำทางเดินของวงจรไฟฟ้า และอื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้หากได้รับการแยกด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
- หน้าจอ (Display) เป็นส่วนที่ผู้ใช้งานสัมผัสมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมาร์ทโฟนที่กระบวนการสั่งการดำเนินผ่านหน้าจอแบบ LCD หรือแบบ OLED ทั้งนี้ จอ LCD หรือ OLED นั้นมีส่วนประกอบเป็น “ผลึกเหลว” (Liquid crystal) สลับชั้นกับแผ่นแก้ว ซึ่งผลึกเหลวที่ถูกผนึกไว้ในหน้าจอนั้นมีเคมีที่มีความเป็นพิษอยู่ด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดี จะส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมขึ้นได้
- เเบตเตอรี่ (Battery) เป็นชิ้นส่วนที่ให้พลังงานไฟฟ้าแก่โทรศัพท์มือถือของเรา ซึ่งในอดีตมักมีโลหะหนักเป็นสารประกอบโดยเฉพาะนิกเกิ้ล แคดเมียมและนิกเกิ้ล เมธัลไฮด์ดราย แต่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาให้แบตเตอรี่แบบลิเธียมอิออน (Lithium-ion) หรือ ลิเธียมโพลีเมอร์ (Lithium-Polymer) ที่เพิ่มความจุของพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม ชาร์จได้ไวขึ้น ทำให้โทรศัพท์มือถือยุคหลังมีขนาดเล็กลงเบาขึ้นและอายุการใช้งานในแต่ละครั้งนานขึ้น ด้วยวัตถุดิบเดียวกันนี้เอง ก็เป็นเหตุผลให้โทรศัพท์มือถือต้องได้รับการจัดเก็บที่ดี ไม่เช่นนั้นอาจทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
- ตัวเครื่อง (Body) เป็นโครงสร้างหลัก เป็นส่วนประกอบของโทรศัพท์ที่มีดีไซน์ความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมายของตลาด ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นที่ผลิตจากพลาสติกแบบ PC+ABS อลูมิเนียม แสตนเลสสตีล กระจก ไปจนถึงโลหะไทเทเนียม ซึ่งนอกจากให้เรื่องความทนทานแล้ว ยังช่วยเสริมในแง่ของความสวยงามและภาพลักษณ์ของผู้ใช้งาน
มาตรฐาน RoHS เช็คลิสต์ที่ควรรู้
นายพีระพล กล่าวเสริมว่า จากปริมาณโทรศัพท์มือถือใหม่ที่ออกสู่ตลาดปีละ 14 ล้านเครื่องในประเทศไทยและนับร้อยล้าน นับพันล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในฐานะ “ต้นทาง” ต่างให้ความสำคัญกับ “มาตรฐานทางอุตสาหกรรมต่อสิ่งแวดล้อม” มากขึ้น โดยปัจจุบัน ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือได้ยึดมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) ของสหภาพยุโรป เฉกเช่นเดียวกับโรงงานประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ว่าด้วยเรื่องการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดสารประกอบเพื่อผลิตเป็นโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปจะต้องผ่านมาตรฐาน RoHS ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 และได้เพิ่ม 4 สารต้องห้ามในปี 2019 เป็นต้นมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 10 ชนิด ดังนี้
- ตะกั่ว (Pb) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- ปรอท (Hg) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- แคดเมียม (Cd) ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก
- เฮกซะวาเลนท์ โครเมียม (Cr-VI) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- พาทาเลต Bis(2-Ethylhexyl) phthalate (DEHP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- เบนซิล บูทิล พาทาเลต (Benzyl butyl phthalate (BBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- ไดบูทิล พาทาเลต (Dibutyl phthalate (DBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
- ดิโซบูทิล พาทาเลต (Diisobutyl phthalate (DIBP) ไม่เกิน 0.1% โดยน้ำหนัก
ทั้งนี้ สินค้าใดที่ผ่านมาตรฐาน RoHS จะมีสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร Pb คาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีการระบุคำว่า RoHS compliant หรือ Pb-Free อยู่บนสินค้านั้น ๆ
นอกจากนี้ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเอง ก็มีความตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จากแบรนด์ชั้นนำที่ผ่านมา ผู้ผลิตประกาศว่าจะไม่มีอะแดปเตอร์หัวชาร์จเจอร์ และหูฟังแบบมีสายในบรรจุภัณฑ์ใหม่ของสินค้าทุกรุ่นอีกต่อไป ซึ่งทำให้ขนาดของกล่องบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กลงไปโดยปริยาย ใช้กระดาษน้อยลง ขณะที่การขนส่งต่อเที่ยวสามารถมีจำนวนของสินค้าได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในภาพใหญ่ก็อาจจะทำจำนวนเที่ยวของการขนส่งของยานพาหนะลดลงไปด้วย ก็เป็นการลดลงของแก๊ซพิษคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เกิดจากขับเคลื่อนของเครื่องบินขนส่งและรถขนส่งสินค้าไปอีกทาง นอกจากนี้ทางผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ ๆ ในโลกต่างก็พร้อมใจในการสร้าง “นโยบาย” การช่วยรักษาสิ่งแลดล้อมของตัวเองขึ้นมาอีกด้วย ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อื่น ๆ ก็อาจมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจจะไม่ให้อะแดปเตอร์ตัวชาร์จไฟในโทรศัพท์บางรุ่นกันบ้างแล้ว
“แม้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในฐานะต้นทางของอุตสาหกรรมจะมีความพยายามในการจัดการต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพียงใด แต่ผู้บริโภคในฐานะปลายทางของ value chain ก็มีความจำเป็นในการตระหนักรู้ถึงผลกระทบหากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้แล้วนั้น ไม่ได้รับการจัดเก็บและคัดแยก เพื่อทิ้งอย่างเหมาะสม เพราะสุดท้ายผลกระทบก็จะตกที่ผู้บริโภคเสียเอง” นายพีระพล กล่าว
OPPO มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
นายสุทธิพงศ์ อมรประดิษฐ์กุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท ออปโป้ ไทยแลนด์ กล่าวว่า OPPO มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการพัฒนาทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวเครื่อง การใช้วัสดุอุปกรณ์ การออกแบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ ดังจะเห็นได้จากการที่ OPPO มีฐานการผลิตและทีมงานด้าน R&D ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เซินเจิ้น ตงกวน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซิลิคอนวัลเล สหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ OPPO มีนโยบายในการลดการใช้พลาสติกในกระบวนการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้เริ่มนโยบายดังกล่าวในตลาดยุโรปก่อน โดยมีการเปลี่ยนถาดรองอุปกรณ์ในกล่องมือถือเป็นกระดาษ พลาสติกบรรจุห่อสายชาร์จหรือกล่องพลาสติกใส่หูฟังถูกปรับมาใช้กระดาษจากธรรมชาติ ได้แก่ เยื่อไม่ไผ่ ซึ่งสามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่าย จากนโยบายดังกล่าว ช่วยให้ OPPO Reno4 สามารถลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 93% เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบเดิม
นอกจากนี้ OPPO ยังได้ใช้มาตรฐาน RoHS ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับแร่หายาก ซึ่งทำให้ขนาดขิปเซ็ตมีขนาดเล็กลง ลดปริมาณการใช้แร่หายากในกระบวนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับ MediaTek ที่สามารถผลิตชิปเซ็ตขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งมีการติดตั้งในรุ่น Reno4 Z ในปัจจุบัน ความร่วมมือกับ Snapdragon ซึ่งได้คิดค้นนวัตกรรมชิปเซ็ตขนาด 5 นาโนเมตรสำหรับ Snapdragon 875
นอกจากนี้ ยังได้ประกาศความร่วมมือกับ Qualcomm ที่ในการเป็นพันธมิตรเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีไว้ในงาน WMC 2019 และจะมีการเปิดตัวเทคโนโลยีชิปเซ็ตล่าสุดงาน Tech Summit Digital 2020 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม นี้ ที่เมืองซาน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา
“เราจะได้เห็นนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนต่อไปในแผนงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการควบคุมและจัดการพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ สร้างแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยู่ในกลยุทธ์ทางธุรกิจ นำแนวคิดด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นทิศทางของ OPPO ที่กำลังก้าวไปในอนาคตอันใกล้” นายสุทธิพงศ์ กล่าว
เทรนด์ออกแบบผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสู่Circular Economy
นางสาวกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ร่วมก่อตั้ง Fab Cafe กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องและต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การใช้สอย (function) ความสวยงามน่าใช้ (Aesthetics) ความสะดวกสบายในการใช้ (Ergonomics) ความแข็งแรงคงทน (Construction) ราคา (Cost) กรรมวิธีการผลิต (Production) รวมถึงปัจจัยด้าน “วัสดุ” (Materials) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณขยะบนโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
“ในอดีต การอออกแบบผลิตภัณฑ์มักคำนึงถึงความทนทานเป็นหลัก จึงมีการใช้วัสดุที่แข็งแกร่ง แต่อาจมีราคาแพง แต่ด้วยปัจจัยทางการตลาดที่กระตุ้นให้มีการซื้อถี่ขึ้น ปัจจัยด้านแฟชั่นนิยมของลูกค้า ทำให้เทรนด์การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำลง ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของแบรนด์หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดรับกับแนวคิด Circular Economy” นางสาวกัลยา กล่าว
Circular Economy คือแนวคิดของระบบเศรษฐกิจที่ต้องการหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจนครบเกิดเป็นวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสียด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้า อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งระบบเศรษฐกิจเอง การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
นางสาวกัลยา กล่าวเสริมว่า ในแง่ของการพัฒนาวัตถุดิบเองก็มีความพยายามอย่างมากในกลุ่มนักวัสดุศาสตร์ (Material scientist) เพื่อให้วัตถุดิบสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ (Self-healing) หรือในกรณีของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็มีแนวโน้มการเลือกใช้วัสดุจาก Electronics-based material สู่ Bio-degradeble materials (สามารถสลายตัวทางชีวภาพได้) ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าของสินค้ารายใหญ่จะหันมาให้ความสำคัญกับ Circular Economy มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญคือ ต้นทุนของวัตถุดิบที่ได้มาจากการรีไซเคิล (recycled materials) มีราคาแพงกว่าวัตถุดิบบริสุทธิ์ (Virgin materials) อยู่มาก ทำให้การปรับใช้แนวคิด Circular Economy ในทางปฏิบัติยังคงเป็นไปได้ยากในสินค้าทั่วไป
ทั้งนี้ ภาครัฐและผู้กำกับนโยบายทางสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันแนวคิด Circular Economy ให้เกิดขึ้นผ่านการออกนโยบายสนับสนุน (Subsidy measures) โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวจะต้องมองให้ครอบคลุมทั้ง value chains ของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต ตลอดจนการจัดเก็บ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนจัดหาวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง
“ทิ้งให้ดี” ที่ Dtac
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือล้วนประกอบไปด้วยสารประกอบทั้งที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ กระบวนการจัดเก็บและการคัดแยก ดีแทคในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนของการบริโภคโทรศัพท์มือถือ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ “ทิ้งให้ดี” ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามสู่เป้าหมาย Zero Landfills หรือลดการฝังกลบขยะให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2565 โดยลูกค้าดีแทคสามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วได้ที่จุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ ตามเว็บไซต์ https://dtac.co.th/sustainability/ewaste/
“ดีแทคส่งเสริมให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง มุ่งหวังว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นางอรอุมา กล่าว